เรื่องบทลงโทษต่างๆ

                                                            

ลักษณะอาญาและบทลงโทษในกฎหมายอิสลาม :  

            กฎหมายอิสลามลักษณะอาญา หมายถึง กฎหมายที่กำหนดลักษณะของการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง และกำหนดบทลงโทษทางอาญาสำหรับความผิดนั้นๆเอาไว้ตามตัวบทของอัลกุรฺอานและอัส-สุนนะฮฺ เรียกกฎหมายลักษณะอาญาในภาษาอาหรับว่า อัลฟิกฮุล-ญินาอีย์ (اَلْفِقْهُ الْجِنَاﺋﻲ)  ซึ่งในบทนี้จะกล่าวถึงลักษณะอาญาและบทลงโทษในคดีดังต่อไปนี้

1. การฆาตกรรม (ประทุษร้ายต่อร่างกายและชีวิต)

2. การโจรกรรม (การลักขโมย)

3. การผิดประเวณี (ล่วงละเมิดทางเพศ)

4. การรักร่วมเพศ (ลิวาฏ-เลสเบี้ยน)

5. การดื่มสุรา-การพนัน

6. ข้อห้ามเกี่ยวกับการใส่ร้าย

7. การละทิ้งการละหมาด


1. การฆาตกรรม (قَتْلُ النَّفْسِ)

การฆาตกรรม คือ การประทุษร้ายต่อร่างกายหรืออวัยวะในร่างกายของบุคคลอันเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย หรือหมายถึงการฆ่าชีวิตมนุษย์นั่นเอง ในหลักศาสนาอิสลามถือว่าการฆาตกรรมเป็นสิ่งต้องห้าม และมีโทษร้ายแรงทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ทั้งนี้ เพราะการฆาตกรรมเป็นการละเมิดต่อชีวิตที่เป็นสิทธิของพระองค์อัลลอฮฺ และเป็นการคุกคามต่อความปลอดภัยของหมู่ชนตลอดจนวิถีชีวิตในสังคมมนุษย์ พระองค์อัลลอฮฺ ทรงดำรัสว่า

(وَلاَ تَقْتُلُواْ النَّفْسَ الَّتِي حَرَّمَ اللّهُ إِلاَّ بِالْحَقِّ الآية)

“และพวกสูเจ้าอย่าได้สังหารชีวิตซึ่งพระองค์อัลลอฮฺทรงบัญญัติห้ามเอาไว้ นอกจากด้วยสิทธิอันชอบธรรมเท่านั้น”   (สูเราะฮฺ อัล-อันอาม อายะฮฺที่ 151)

การฆาตกรรมตามกฎหมายอิสลามมี 3 ชนิดคือ

1. การฆาตกรรมโดยเจตนา 

2. การฆาตกรรมโดยกึ่งเจตนา 

3. การฆาตกรรมโดยเกิดความผิดพลาด 

ข้อชี้ขาดในการฆาตกรรมแต่ละชนิด มีดังนี้

1) การฆาตกรรมโดยเจตนา มีข้อชี้ขาด 2 ประการคือ

ก. ข้อชี้ขาดทางศาสนาที่เกี่ยวกับโลกหน้า คือ เป็นสิ่งต้องห้ามมีบาปร้ายแรงที่รองจากการปฏิเสธ (กุฟฺร์) และต้องได้รับโทษทัณฑ์ในนรกอเวจี หากฆาตกรไม่ทำการสำนึกผิด (เตาบะฮฺ) พระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) ทรงดำรัสว่า

وَمَن يَقْتُلْ مُؤْمِنًا مُّتَعَمِّدًا فَجَزَآؤُهُ جَهَنَّمُ خَالِدًا فِيهَا وَغَضِبَ اللّهُ عَلَيْهِ وَلَعَنَهُ وَأَعَدَّ لَهُ عَذَابًا عَظِيمًا

“และผู้ใดฆ่าผู้ศรัทธาโดยเจตนา การตอบแทนของผู้นั้นคือนรกอเวจีโดยที่เขาอยู่ในนั้นตลอดกาล และอัลลอฮฺทรงกริ้วผู้นั้น และทรงสาปแช่งเขา อีกทั้งทรงเตรียมการลงโทษทัณฑ์อันยิ่งใหญ่แก่ผู้นั้นแล้ว   (สูเราะฮฺอัน-นิสาอฺ อายะฮฺที่ 93)

ข. ส่วนข้อตัดสินอันเป็นคดีความในโลกนี้คือ การประหารชีวิต (อัลกิ-ศ็อศ) หรือจ่ายค่าสินไหมทดแทน (อัดดิยะฮฺ) สถานหนัก ถ้าพี่น้องหรือทายาทของผู้ถูกฆาตกรรมให้อภัย ดังที่อัลกุรฺอานได้ระบุว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ كُتِبَ عَلَيْكُمُ الْقِصَاصُ فِي الْقَتْلَى الْحُرُّ بِالْحُرِّ وَالْعَبْدُ بِالْعَبْدِ وَالأُنثَى بِالأُنثَى فَمَنْ عُفِيَ لَهُ مِنْ أَخِيهِ شَيْءٌ فَاتِّبَاعٌ بِالْمَعْرُوفِ وَأَدَاء إِلَيْهِ بِإِحْسَانٍ ذَلِكَ تَخْفِيفٌ مِّن رَّبِّكُمْ وَرَحْمَةٌ فَمَنِ اعْتَدَى بَعْدَ ذَلِكَ فَلَهُ عَذَابٌ أَلِيمٌ

“โอ้บรรดาศรัทธาชน การประหารชีวิตให้ตายตกตามกันไปในหมู่ผู้ถูกฆาตกรรมได้ถูกบัญญัติเหนือพวกสูเจ้าแล้ว เสรีชนต่อเสรีชน ทาสต่อทาส สตรีต่อสตรี ดังนั้นผู้ใดถูกอภัยให้แก่เขาผู้นั้น ซึ่งสิ่งหนึ่งจากพี่น้องของผู้ถูกฆาตกรรม ก็ให้ปฏิบัติตามความเหมาะสมและจ่ายค่าสินไหมทดแทนแต่โดยดี ดังกล่าวนั้นคือการผ่อนปรนจากพระผู้อภิบาลของพวกสูเจ้าและคือความเมตตา ดังนั้นผู้ใดละเมิดหลังจากนั้น ผู้นั้นย่อมได้รับการลงทัณฑ์อันเจ็บปวดยิ่ง”  (สูเราะฮฺ อัล-บะกอเราะฮฺ อายะฮฺที่ 178)

          การประหารชีวิต (อัล-กิศ็อศ) คือข้อชี้ขาดตามหลักมูลฐานอันเป็นผลมาจากการฆาตกรรมโดยเจตนา ซึ่งถือเป็นสิทธิของบรรดาทายาทของผู้ถูกฆาตกรรม หากพวกเขาประสงค์ให้มีการประหารชีวิตฆาตกร ก็จำเป็นที่ศาล (กอฎีย์) ต้องช่วยเหลือและอำนวยให้พวกเขาได้รับสิทธินั้น 

         ดังนั้น ถ้าหากทายาทของผู้ถูกฆาตกรรมมีความประสงค์ในการให้อภัย พวกเขาก็ย่อมกระทำได้โดยรับค่าสินไหมทดแทนจากทรัพย์ของฆาตกร 

และในกรณีที่ฆาตกรมีหลายคน กล่าวคือเป็นหมู่คณะก็ให้ตัดสินประหารชีวิตฆาตกรทั้งหมด ดังปรากฏว่า 

1. ท่านอุมัร (ร.ฎ.) ได้ตัดสินประหารชีวิตชาย 7 คน หรือ 5 คน ที่ร่วมกันสังหารชายผู้หนึ่ง

2. ท่านอะลี (ร.ฎ.) ได้ตัดสินประหารชีวิตชาย 3 คน ที่ร่วมกันสังหารชายผู้หนึ่ง เป็นต้น

ทั้งนี้บรรดาอิหม่ามทั้ง 4 ท่านได้เห็นพ้องตรงกันว่า จำเป็นต้องประหารชีวิตกลุ่มคณะบุคคลที่ร่วมกันสังหารบุคคลเพียงคนเดียว เพื่อเป็นการปิดหนทางในการอาศัยช่องว่างทางกฏหมายที่อาจเกิดขึ้นได้ หากไม่มีการตัดสินเช่นนี้

และในการตัดสินประหารชีวิตฆาตกรนั้น จำต้องมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

1. ฆาตกรต้องบรรลุศาสนภาวะ มีสติสัมปชัญญะ

2. ฆาตกรต้องมีสถานภาพด้อยกว่าผู้ถูกฆาตกรรม ท่านนบี กล่าวว่า( لاَيُقْتَلُ حُرٌّبِعَبْدٍ )  “เสรีชนจะไม่ถูกประหารชีวิตด้วยเหตุการสังหารทาส”  (รายงานโดย อบูดาวูด – 4517-)

3. ฆาตกรจะต้องไม่ใช่บิดา , ปู่ หรือผู้สืบสายเลือดสูงขึ้นไป ดังมีรายงานจากท่านอุมัร (ร.ฎ.) ว่า : ฉันเคยได้ยินท่านนบี กล่าวว่า : ( لاَيُقَادُالْوَالِدُبِالْوَلَدِ )  “บิดาจะไม่ถูกประหารชีวิตเนื่องด้วยการสังหารบุตร”  (รายงานโดย อัตติรมิซี -1400-)

4. ฆาตกรจะต้องเป็นผู้ที่สังหารผู้ตายโดยเจตนา หรือเป็นผู้จ้างวาน หรือเป็นผู้ร่วมมือด้วย มิใช่ถูกบังคับ พลาดพลั้งหรือหลงลืม


2) การฆาตกรรมกึ่งเจตนา มีข้อชี้ขาดสองสถานะเช่นกัน กล่าวคือ ทางศาสนาที่เกี่ยวกับ โลกหน้า ถือเป็นสิ่งต้องห้าม มีบาปและต้องได้รับโทษทัณฑ์ในโลกหน้า เพราะฆาตกรมีเจตนาแต่โทษทัณฑ์ต่ำกว่าโทษทัณฑ์ของการฆาตกรรมโดยเจตนา

ส่วนข้อชี้ขาดตามลักษณะอาญาในโลกนี้ คือการจ่ายค่าสินไหมทดแทน (อัด-ดิยะฮฺ) ขั้นหนักที่บรรดาทายาทฝ่ายบิดาของฆาตกรจำต้องร่วมชดใช้โดยผ่อนชำระในระยะเวลา 3 ปี ดังมีรายงานจากท่านอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ว่า ท่านนบี ได้กล่าวว่า :

( شِبْهُ الْعَمْدِ قَتِيْلُ السَّوْطِ وَالْعَصٰا ، فِيْهِ مِائَةٌمِنَ اْلإِ بِلِ ، مِنْهَا أَرْبَعُوْنَ فِى بُطُوْنِهَاأَوْلاَدُهَا )

“กึ่งเจตนาคือ ผู้ที่ถูกสังหารด้วยแส้และไม้เท้า  ในการสังหารนี้คืออูฐ 100 ตัว จาก 100 ตัวนั้นคืออูฐ 40 ตัว ที่ในท้องของมันมีลูก”  (รายงานโดย อัน-นะสาอี)

การฆาตกรรมชนิดนี้ไม่จำเป็นต้องประหารชีวิต ถึงแม้ว่าญาติของผู้ตายจะร้องขอก็ตาม แต่ให้บรรดาทายาทของฆาตกร (ที่มิใช่บรรพบุรุษหรือบุตรหลาน) จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่ระบุมาในหะดีษ


3) การฆาตกรรมโดยผิดพลาด มีข้อชี้ขาดทางศาสนาที่เกี่ยวกับโลกหน้าคือ การอภัยให้ ไม่มีบาปและไม่มีการลงทัณฑ์ เพราะเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยผิดพลาดไม่มีเจตนา ดังมีหะดีษระบุว่า :

( إِنَّ اﷲَتَجَاوَزَعَنْ أُمَّتِىْ الْخَطَأَ وَالنِّسْيَانَ وَمَااسْتُكْرِهُواعَلَيْهِ )  “แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺทรงอภัยแก่ประชาชาติของฉัน ซึ่งความผิดพลาด , การหลงลืม และสิ่งที่พวกเขาถูกบังคับให้กระทำสิ่งนั้น”  (รายงานโดย อิบนุมาญะฮฺ -2045-)

ส่วนข้อชี้ขาดตามลักษณะอาญาในโลกนี้ คือ จำเป็นต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน (อัด-ดิยะฮฺ) เหนือบรรดาทายาทของฆาตกร โดยผ่อนชำระเป็นเวลา 3 ปี และเป็นการจ่ายค่าสินไหมขั้นเบาคือ แบ่งเป็นประเภทอูฐ 5 ชนิด ได้แก่ อูฐ 3 ปี จำนวน 20 ตัว , อูฐ 4 ปี จำนวน 20 ตัว , อายุย่างเข้าปีที่ 3 จำนวน 20 ตัว , อายุย่างเข้าปีที่ 2 จำนวน 20 ตัว และอูฐเพศผู้ย่างเข้าปีที่ 3 จำนวน 20 ตัว (รายงานจากอิบนุ มัสอู๊ด (ร.ฎ.) เป็นหะดีษเมาว์กู๊ฟ)

และมีรายงานจากท่าน อับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอู๊ด (ร.ฎ.) เช่นกันว่า ท่านนบี พิพากษาให้ ผู้เป็นฆาตกรโดยพลาดพลั้งจ่ายเงินจำนวน 1,000 ดีนาร์ หรือ 10,000 ดิรฮัมก็ได้

การไถ่โทษ (อัล–กัฟฟาเราะฮฺ) เนื่องจากการฆาตกรรม

ฆาตกรที่สังหารชีวิตที่ถูกห้ามเอาไว้ถึงแม้จะเป็นทารกในครรภ์ จำต้องไถ่โทษ (อัล-กัฟฟาเราะฮฺ) เนื่องจากการละเมิดสิทธิของพระองค์อัลลอฮฺ ไม่ว่าฆาตกรผู้นั้นจะฆาตกรรมโดยเจตนา , กึ่งเจตนา หรือพลาดพลั้ง และไม่ว่าฆาตกรจะได้รับการอภัยให้จากการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่จำต้องจ่ายหรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าฆาตกรนั้นจะเป็นเด็ก หรือผู้วิกลจริต หรือเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ และบรรลุศาสนภาวะแล้วหรือไม่ก็ตาม ดังปรากฏในอัลกุรฺอานว่า :

وَمَن قَتَلَ مُؤْمِنًا خَطَئًا فَتَحْرِيرُ رَقَبَةٍ مُّؤْمِنَةٍ وَدِيَةٌ مُّسَلَّمَةٌ إِلَى أَهْلِهِ

“และผู้ใดได้สังหารผู้ศรัทธาโดยผิดพลาดแล้ว ก็ให้ปลดปล่อยทาสผู้ศรัทธา 1 คนให้เป็นไทแก่ตน และจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ถูกส่งมอบไปยังครอบครัวผู้ศรัทธาที่ถูกสังหารนั้น”  (สูเราะฮฺ อัน-นิสาอฺ อายะฮฺที่ 92)

การไถ่โทษ (อัล-กัฟฟาเราะฮฺ) มี 2 ประการ ดังนี้

1) การปล่อยทาสหนึ่งคนที่เป็นมุสลิมให้เป็นไท

2) ถ้าไม่มีทาสที่จะปล่อยก็ให้ถือศีลอดเป็นเวลา 2 เดือนติดต่อกัน หากไม่สามารถถือ ศีลอดอันเนื่องมาจากเจ็บป่วย การไถ่โทษก็ยังคงเป็นภาระผูกพันอยู่เช่นนั้นจนกว่าจะมีความสามารถไถ่โทษ 1 ใน 2 ประการนั้น ทั้งนี้การไร้ความสามารถจะไม่เคลื่อนย้ายสู่การให้อาหารคนยากจนแต่อย่างใด

การประทุษร้ายที่ไม่ถึงแก่ชีวิต มี 3 ชนิด คือ

1) การประทุษร้ายด้วยการกระทำให้เกิดบาดแผล เช่น บาดแผลที่ใบหน้าและศีรษะ ที่ทำให้ผิวหนังฉีกขาดและกระดูกโผล่ออกมา (อัลมูฎิฮะฮฺ) ให้กิศ็อศฺ คือกระทำกับผู้ประทุษร้ายเช่นที่เขากระทำกับผู้ถูกประทุษร้าย ยกเว้นผู้ประทุษร้ายได้รับการอภัยก็ให้จ่ายค่าสินไหมทดแทน (อัดดิยะฮฺ) เป็นอูฐจำนวน 5 ตัว

2) การประทุษร้ายด้วยการทำให้อวัยวะขาดหรือเสียหาย คือการที่บุคคลได้ประทุษร้ายต่ออีกบุคคลหนึ่งด้วยการควักลูกตาหรือทำให้ขาหักหรือทำให้แขนขาดเป็นต้น ทั้งนี้หากผู้ประทุษร้ายกระทำโดยเจตนา และมิใช่บิดาของผู้ถูกประทุษร้าย และผู้ถูกประทุษร้ายมีสถานภาพเท่าเทียมกัน ก็ให้ลงโทษ (กิศ็อศฺ) ผู้ประทุษร้ายด้วยการตัดสิ่งที่เขาตัด และทำให้เกิดบาดแผลเหมือนกับที่เขาได้กระทำกับผู้ถูกประทุษร้าย เนื่องจากพระองค์อัลลอฮฺ ทรงดำรัสว่า :

…وَالْجُرُوحَ قِصَاصٌ…الآية   “และบรรดาบาดแผลนั้นคือการกิศ็อศฺ (กระทำเยี่ยงกัน)”   (สูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 45)

โดยการกิศ็อศประเภทนี้มีเงื่อนไขดังนี้

ต้องปลอดภัยจากการกระทำที่เกินเลยในการกิศ็อศ ดังนั้นหากเกรงว่าจะมีการกระทำที่เกินเลย ก็ไม่มีการกิศ็อศแต่อย่างใด

การกิศ็อศ (การกระทำเยี่ยงกัน) ต้องเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ ถ้าหากกระทำไม่ได้ก็ให้จ่ายค่าสินไหมทดแทน (อัดดิยะฮฺ)

อวัยวะที่ต้องการตัดนั้นต้องเหมือนกันทั้งนามชื่อและตำแหน่งของอวัยวะที่เสียหาย ดังนั้นมือขวาจะไม่ถูกตัดในส่วนของมือซ้าย มือจะไม่ถูกตัดในส่วนของเท้า เป็นต้น

อวัยวะทั้งสองจะต้องมีความสมบูรณ์และใช้การได้เหมือนกัน ดังนั้นมือที่เป็นอัมพาตจะไม่ถูกตัดในส่วนของมือที่ปกติ เป็นต้น

ทุกบาดแผลที่ไม่สามารถกิศ็อศได้เยี่ยงกันก็จำเป็นต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น

3) การประทุษร้ายที่ทำให้ประโยชน์การใช้อวัยวะนั้นๆ หรือบางส่วนจากประโยชน์นั้นเสียไป อันได้แก่ การทำให้สติปัญญาสูญเสียไป ทำให้การมองเห็น , การได้ยิน , การพูด , การดมกลิ่นสูญเสียไป , การทำให้สมรรถภาพทางเพศสูญเสียไป และการทำให้ความสามารถในการยืนและการนั่งสูญเสียไป ในทุกกรณีที่กล่าวมาจำต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนในอัตราเต็ม (คือ อูฐ 100 ตัว)

          ดังมีปรากฏในสาส์นของท่าน อัมร์ อิบนุ ฮัซฺมิน (ร.ฎ.) ซึ่งท่านนบี ได้ใช้ให้เขียนถึงชาวเมืองยะมันว่า : “ผู้ใดที่สังหารผู้ศรัทธาโดยเจตนาพร้อมกับมีพยานรู้เห็นก็จำเป็นจะต้องประหารชีวิตผู้นั้น เว้นแต่ผู้ปกครองของผู้ที่ถูกสังหารจะยอมรับค่าสินไหมทดแทนและในการสังหารผู้อื่นต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นอูฐ 100 ตัว (เต็มอัตรา) สำหรับจมูกที่ถูกตัดขาดไปทั้งหมด จำต้องจ่ายค่าสินไหมเต็มอัตรา , สำหรับริมฝีปากทั้ง 2 ข้าง , อัณฑะทั้งสอง ลึงค์ กระดูกสันหลัง ตาทั้งสองข้าง จำต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มอัตราเช่นกัน ,

สำหรับเท้าข้างเดียวให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนครึ่งหนึ่ง , สำหรับแผลแตกที่ศีรษะให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนหนึ่งในสาม , สำหรับแผลที่ทะลุเข้าไปภายในจำต้องจ่ายหนึ่งในสาม , สำหรับกระดูกที่แตกหรือหัก จำต้องจ่ายเป็นอูฐ 15 ตัว , สำหรับนิ้วทุกนิ้วจำต้องจ่ายเป็นอูฐ 10 ตัว สำหรับฟันจะต้องจ่ายเป็นอูฐ 5 ตัว และสำหรับบาดแผลที่กระดูกโผล่ออกมา จำต้องจ่ายเป็นอูฐ 5 ตัว….”   (รายงานโดย อัน-นะสาอี -8/57-)

             สำหรับค่าสินไหมทดแทนสำหรับสตรีที่ได้รับบาดเจ็บ หรืออวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดของนางได้รับความเสียหาย คือนางจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากผู้ประทุษร้ายครึ่งหนึ่งจากผู้ชายได้รับ ดังมีหะดีษระบุว่า :  “บาดแผลของสตรีจะได้รับค่าสินไหมทดแทนครึ่งหนึ่งที่ผู้ชายได้รับ  ไม่ว่าบาดแผลนั้นจะน้อยหรือมากกว่าก็ตาม”   (รายงานโดย อัล-บัยฮะกี)

            อนึ่งในกรณีการฆาตกรรมที่จำต้องมีการประหารชีวิตฆาตกรนั้นกระทำได้ 2 วิธี คือ

1) ด้วยการสารภาพ (อัลอิกร็อรฺ) ของฆาตกร

2) มีพยานที่เป็นชายที่มีความยุติธรรม 2 คนยืนยัน

ส่วนกรณีที่จำเป็นต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนนั้น ยืนยันได้ด้วยสิ่งดังต่อไปนี้

1) การสารภาพของฆาตกรหรือผู้ประทุษร้าย

2) มีพยานที่เป็นชายที่มีความยุติธรรม 2 คน ยืนยัน

3) มีพยานเป็นชาย 1 คน และสตรี 2 คน ทั้งนี้เพราะสตรีจะถูกยอมรับในการเป็นพยานของพวกนางในเรื่องทรัพย์สิน โดยการเป็นพยานของสตรี 2 คน จะแทนการเป็นพยานของชาย 1 คน

4) มีพยานเป็นชาย 1 คน และมีการสาบานของโจทก์

5) ผู้พิพากษารู้ถึงสิ่งดังกล่าว

             อนึ่ง การดำเนินการลงโทษในคดีความลักษณะอาญาไม่ว่าจะเป็นโทษประหารชีวิตหรือการกระทำเยี่ยงกันนั้นต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้มีอำนาจ (อิหม่ามหรือผู้ปกครอง) เมื่อผู้มีอำนาจหรือผู้พิพากษาได้พิจารณาคดีความแล้ว ตัดสินให้ประหารชีวิตฆาตกร ผู้ปกครองหรือทายาทของผู้ถูกสังหารมีสิทธิร้องขอจากผู้มีอำนาจหรือผู้พิพากษาให้ตนดำเนินการประหารชีวิตฆาตกรด้วยตนเอง โดยมีเงื่อนไข 2 ประการ คือ

1) การดำเนินการดังกล่าวต้องเป็นไปตามคำอนุญาตของผู้มีอำนาจหรือผู้พิพากษา ดังนั้นหากผู้ปกครองหรือทายาทของผู้ถูกสังหารด่วนกระทำการลงมือประหารชีวิตฆาตกรโดยมิได้ขออนุญาตจากผู้มีอำนาจหรือผู้พิพากษาก่อน ถือว่ามีความผิด โดยต้องคดีลหุโทษ (อัตตะอฺซีรฺ) ตามดุลยพินิจของผู้มีอำนาจหรือผู้พิพากษา เช่น จำคุก หรือ เฆี่ยน แต่ไม่มีการประหารชีวิตผู้กระทำผิดในกรณีนี้

2) การดำเนินการนั้นต้องเป็นกรณีของโทษประหารชีวิตที่มีการฆาตกรรม ส่วนกรณีการลงโทษเยี่ยงกันในคดีประทุษร้ายนั้น ผู้มีอำนาจหรือผู้พิพากษาหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจะเป็นผู้ดำเนินการลงโทษเอง


2. การลักทรัพย์หรือโจรกรรม

การลักทรัพย์หรือโจรกรรม เรียกในภาษาอาหรับว่า อัสสะริเกาะฮฺ (اَلسَّرِقَةُ) 

ตามหลักภาษาหมายถึง การเอาทรัพย์สินโดยไม่เปิดเผย 

ตามคำนิยามในกฎหมายอิสลาม หมายถึง การเอาทรัพย์สินของผู้อื่นอย่างไม่เปิดเผยโดยมิชอบจาก

         สถานที่เก็บทรัพย์สินตามเงื่อนไขเฉพาะที่ถูกกำหนดเอาไว้

การลักทรัพย์ถือเป็นบาปใหญ่ และถือเป็นพฤติกรรมของผู้ที่ไม่ศรัทธา ไม่มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น ดังนั้นศาสนาอิสลามจึงกำหนดโทษเอาไว้รุนแรงมากด้วยการตัดข้อมือ ดังระบุในอัลกุรฺอานว่า :

وَالسَّارِقُ وَالسَّارِقَةُ فَاقْطَعُواْ أَيْدِيَهُمَا جَزَاء بِمَا كَسَبَا نَكَالاً مِّنَ اللّهِ وَاللّهُ عَزِيزٌ حَكِيمٌ

“และชายผู้ลักทรัพย์และหญิงผู้ลักทรัพย์นั้น พวกท่านจงตัดมือของบุคคลทั้งสอง เพื่อเป็นการตอบแทนต่อสิ่งที่บุคคลทั้งสองได้ขวนขวายเอาไว้ อันเป็นการลงโทษจากพระองค์อัลลอฮฺ และอัลลอฮฺทรงเกียรติยิ่งอีกทั้งทรงปรีชาญาณยิ่ง”  (สูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 38)

และท่านนบี ได้กล่าวว่า : ( لَعَنَ اﷲُالسَّارِقَ يَسْرِقُ الْبيْضَةَ فَتُقْطَعُ يَدُه)

“พระองค์อัลลอฮฺทรงสาปแช่งผู้ลักทรัพย์โดยที่เขาลักไข่เพียง 1 ฟองแล้วมือของเขาก็ถูกตัด”  (รายงานโดย บุคอรีและมุสลิม)


บทลงโทษคดีลักทรัพย์

เมื่อมีการยืนยันในคดีลักทรัพย์ตามเงื่อนไขที่จะกล่าวถึงต่อไป เบื้องหน้าผู้พิพากษาคดีความ ก็จำเป็นต้องดำเนินคดีกับผู้ลักทรัพย์ คือ ตัดมือข้างขวาจากทางข้อมือ ในกรณีที่ผู้ลักทรัพย์ก่อคดีเป็นครั้งแรก หากผู้กระทำผิดลักทรัพย์ในครั้งที่ 2 หลังจากถูกตัดมือขวาไปแล้ว ก็ให้ตัดข้อเท้าข้างซ้ายของจำเลย

หากลักทรัพย์เป็นที่ครั้งที่ 3 หลังจากถูกตัดข้อเท้าข้างซ้ายไปแล้ว ก็ให้ตัดข้อมือข้างซ้าย หากจำเลยไม่หลาบจำ กระทำผิดเป็นครั้งที่ 4 ก็ให้ตัดข้อเท้าข้างขวาของจำเลย หากกระทำผิดในฐานลักทรัพย์อีก ให้ผู้มีอำนาจหรือผู้พิพากษาพิจารณาดำเนินคดีลหุโทษตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ท่านอิหม่าม อัชชาฟีอีย์ (ร.ฮ.) ได้รายงานไว้ในมุสนัดของท่านจากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า ท่านนบี ได้กล่าวถึงผู้ลักทรัพย์ว่า :

إِنْ سَرِقَ فَاقْطَعُوْايَدَه ، ثُمَّ إِنْ سَرِقَ فَاقْطَعُوْاِرجْلَه ثُمَّ إِنْ سَرِقَ فَاقْطَعُوْايَدَه ، ثُمَّ  إِنْ سَرِقَ فَاقْطَعُوْا رِجْلَهُ

“หากว่าเขาลักทรัพย์ พวกท่านจงตัดมือของเขา ต่อมาหากเขาลักทรัพย์ ก็จงตัดข้อเท้าของเขา ต่อมาหากเขาลักทรัพย์อีก ก็จงตัดมือของเขา ต่อมาหากเขาลักทรัพย์อีก พวกท่านก็จงตัดข้อเท้าของเขา”

(อัลอุมม์ 6/138)

           อนึ่ง คดีลักทรัพย์จะได้รับการยืนยันด้วยหนึ่งในสองวิธีดังนี้ คือ

(1) ผู้ลักทรัพย์สารภาพอย่างชัดเจนว่าตนลักทรัพย์

(2) มีพยานเป็นชายที่ยุติธรรม 2 คน ยืนยันว่าจำเลยได้ก่อคดีลักทรัพย์

          ทั้งนี้ หากจำเลยกลับคำให้การ ก็ไม่ต้องถูกตัดมือ แต่จำต้องชดใช้ทรัพย์สินที่ถูกขโมยแก่เจ้าทรัพย์เท่านั้น

           ส่วนเงื่อนไขในการดำเนินคดีผู้ลักทรัพย์ตามบทลงโทษด้วยการตัดมือ ผู้ที่ลักทรัพย์จะไม่ถูกตัดมือนอกจากมีเงื่อนไขครบถ้วน ดังต่อไปนี้

(1) ผู้ลักทรัพย์ต้องบรรลุศาสนภาวะ มีสติสัมปชัญญะพร้อมทั้งกระทำด้วยความสมัครใจ (ไม่ถูกบังคับ)

(2) ผู้ลักทรัพย์ต้องมิใช่บุตรของผู้เป็นเจ้าทรัพย์ มิใช่บิดาและมิใช่คู่สามีภรรยา

(3) ทรัพย์ที่ถูกขโมยต้องเป็นทรัพย์ที่หะล้าล และมีจำนวนถึงอัตรา 1/4 ดีนาร์ในการตีราคา หรือเท่ากับ 3 ดิรฮัมขึ้นไป เนื่องจากมีหะดีษระบุว่า :  

( لاَتُقْطَعُ يَدُالسَّارِقِ إِلاَّفِى رُبْعِ دِيْنَارٍفَصَاعِدًا )  

“มือของผู้ลักทรัพย์จะไม่ถูกตัดนอกจากใน (กรณีที่ทรัพย์นั้นถึง) หนึ่งในสี่ของดีนาร์ขึ้นไป”  (รายงานโดย บุคอรี -6407- / มุสลิม -1684-)

และมีรายงานจากท่านอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ว่า  “ท่านนบี ได้ตัดสินให้ตัดมือผู้ลักขโมยโล่ห์ที่มีราคา 3 ดิรฮัม”  (รายงานโดย บุคอรี -6411-)

(4) ทรัพย์ที่ถูกขโมยนั้นต้องอยู่ในสถานที่มิดชิดหรือมีขอบเขต เช่น บ้าน , ร้านค้า , คอกสัตว์ หรือกล่อง เป็นต้น

(5) ผู้ลักทรัพย์ต้องไม่มีกรรมสิทธิเกี่ยวข้องในทรัพย์สินที่ถูกขโมยนั้น เช่น ลักค่าจ้างของตนเองจากนายจ้าง เป็นต้น

(6) ผู้ลักทรัพย์นั้นต้องรู้ว่าการลักทรัพย์เป็นสิ่งต้องห้าม

(7) การเอาทรัพย์ไปนั้นต้องมิใช่ด้วยวิธีการฉกชิงวิ่งราวทรัพย์จากเจ้าทรัพย์แล้ววิ่งหนี

(8) การลักทรัพย์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงปีที่แห้งแล้งขาดแคลนอาหาร (ทุพภิกขภัย)

อนึ่ง เมื่อมีการยืนยันในคดีลักทรัพย์ และผู้ลักทรัพย์ถูกตัดมือจากคำพิพากษาแล้ว ก็จำเป็นที่ผู้ลักทรัพย์ต้องส่งมอบทรัพย์ของกลางที่ถูกขโมยมาแก่เจ้าทรัพย์ หากเจ้าทรัพย์ยังมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าทรัพย์นั้นเสียหายไปแล้วก็จำเป็นต้องชดใช้ตามราคาของทรัพย์นั้น

ในกรณีที่เจ้าทรัพย์อภัยแก่ผู้ลักทรัพย์ และเรื่องยังไม่เป็นคดีความในชั้นศาล ก็ไม่มีการตัดมือแต่อย่างใด แต่ถ้าหากเป็นคดีความในชั้นศาลแล้ว ก็จำเป็นต้องตัดมือ และไม่อนุญาตให้วิ่งเต้นเพื่อลดโทษในคดีความดังกล่าว

การปล้นสะดมภ์

ผู้ที่บุกรุกเคหะสถานและปล้นทรัพย์พร้อมกับฆ่าเจ้าทรัพย์นั้น มีโทษสถานหนักตามที่อัลกุรฺอานได้ระบุเอาไว้ดังนี้

( إِنَّمَا جَزَاء الَّذِينَ يُحَارِبُونَ اللّهَ وَرَسُولَهُ وَيَسْعَوْنَ فِي الأَرْضِ فَسَادًا أَن يُقَتَّلُواْ أَوْ يُصَلَّبُواْ أَوْ تُقَطَّعَ أَيْدِيهِمْ وَأَرْجُلُهُم مِّنْ خِلافٍ أَوْ يُنفَوْاْ مِنَ الأَرْضِ )

“อันที่จริง การตอบแทนของบรรดาผู้ที่ทำสงครามกับอัลลอฮฺและรอสูลของพระองค์ และพยายามก่อความเสียหายในแผ่นดิน คือการที่พวกเขาจะถูกประหารชีวิต หรือถูกตรึงบนไม้กางเขน หรือมือและเท้าของพวกเขาจะถูกตัดสลับข้างหรือพวกเขาจะถูกเนรเทศจากแผ่นดินนั้น”  (สูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 33)

และเนื่องจากมีรายงานระบุว่า ท่านนบี ได้กระทำเช่นนั้นกับพวกอัรนียีนฺ ซึ่งปล้นอูฐ ซะกาตและสังหารผู้เลี้ยงอูฐและหนีคดี (รายงานโดย บุคอรีและมุสลิม)

ทั้งนี้ให้ผู้มีอำนาจ (อิหม่าม) ดำเนินการลงโทษกับผู้ปล้นสะดมภ์ดังกล่าวทั้งหมด ซึ่งนักวิชาการบางท่านมีความคิดเห็นว่า ให้ประหารชีวิตกรณีมีการฆ่าเจ้าทรัพย์ และให้ตัดมือและเท้าสลับข้างในกรณีขโมยทรัพย์ และให้เนรเทศหรือถูกจำคุกเมื่อไม่มีการฆ่าเจ้าทรัพย์ และการขโมยทรัพย์ จนกว่าพวกนั้นจะเตาบะฮฺตัว (มินฮาญุลมุสลิม หน้า 420)

3. การผิดประเวณี (ล่วงละเมิดทางเพศ)

การผิดประเวณี เรียกในภาษาอาหรับว่า อัซ-ซินา (اَلزِّنَا) หมายถึง การสมสู่ระหว่างชายหญิงที่มิใช่คู่สมรสของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นทางทวารหน้าหรือทวารหลังก็ตาม 

การผิดประเวณีถือเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาบาปใหญ่ (กะบาอิรฺ) รองจากการตกศาสนา (กุฟฺร์) การตั้งภาคีและการฆาตกรรม พระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) ทรงบัญญัติห้ามการผิดประเวณีเอาไว้ใน อัลกุรฺอานว่า :

وَلاَ تَقْرَبُواْ الزِّنَى إِنَّهُ كَانَ فَاحِشَةً وَسَاء سَبِيلاً

“และสูเจ้าทั้งหลายอย่าเข้าใกล้การผิดประเวณี แท้จริงการผิดประเวณีคือความอนาจารและเป็นหนทางอันชั่วช้าเลวทราม”  (สูเราะฮฺ อัล-อิสรออฺ อายะฮฺที่ 32)

ส่วนหนึ่งจากวิทยปัญญาในการบัญญัติห้ามการผิดประเวณี คือการดำรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ของสังคมมนุษย์, เป็นการรักษาเกียรติยศของผู้ศรัทธา และพิทักษ์ไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของเชื้อสายโลหิตตลอดจนเป็นการป้องกันผู้ศรัทธาให้ห่างไกลจากความสำส่อนทางเพศอันเป็นสาเหตุของโรคร้ายที่รุนแรงเช่น เอดส์ เป็นต้น

ผู้กระทำผิดในคดีลักษณะอาญาว่าด้วยการผิดประเวณีมี 2 ลักษณะคือ

(1) ผู้ที่เป็นมุฮฺซอน คือผู้ที่เคยผ่านการแต่งงานมาแล้ว ซึ่งมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

ก. บรรลุศาสนภาวะและมีสติสัมปชัญญะ

ข. เป็นเสรีชน

ค. มีการกระทำผิดโดยสมัครใจ มิได้ถูกบังคับ

ง. ผ่านการสมรสที่ถูกต้องและมีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นจากการสมรสนั้น


(2) ผู้ที่มิใช่มุฮฺซอน คือผู้ที่ยังไม่เคยสมรสมาก่อน

บทลงโทษในคดีลักษณะอาญาว่าด้วยการผิดประเวณี

– หากผู้กระทำผิดเป็นผู้ที่มิใช่มุฮฺซอน คือผู้ที่ยังไม่เคยสมรสมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง จะต้องถูกลงโทษด้วยการเฆี่ยน (โบย) 100 ที และเนรเทศเป็นเวลา 1 ปี

– หากผู้กระทำผิดเป็นมุฮฺซอน คือผ่านการสมรสที่ถูกต้องมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง จะต้องถูกลงโทษด้วยการขว้างด้วยก้อนหินจนตาย

หลักฐานว่าด้วยการเฆี่ยน (โบย) 100 ที สำหรับผู้กระทำผิดประเวณีที่มิใช่มุฮฺซอนคือ อัลกุรฺอานที่ระบุว่า :

( الزَّانِيَةُ وَالزَّانِي فَاجْلِدُوا كُلَّ وَاحِدٍ مِّنْهُمَا مِائَةَ جَلْدَةٍ – الآية- )

“หญิงที่ทำผิดประเวณีและชายที่ทำผิดประเวณีนั้น พวกท่านจงเฆี่ยนแต่ละบุคคลจากทั้งสองนั้น 100 ครั้ง”  (สูเราะฮฺ อัน-นูร อายะฮฺที่ 2)

ส่วนหลักฐานที่ว่าด้วยการเนรเทศผู้กระทำผิดเป็นเวลา 1 ปีนั้นได้รับการยืนยันในหะดีษซ่อฮีฮฺ และการอิจญ์มาอฺของบรรดาซอฮาบะฮฺ โดยคำตัดสินให้เนรเทศนั้นต้องมาจากคำตัดสินของผู้พิพากษา และการเนรเทศนี้จำเป็นทั้งผู้กระทำผิดที่เป็นชายและเป็นหญิง ยกเว้นในกรณีของผู้หญิงต้องมีผู้ที่เป็นมุฮฺรอม (ชายที่ห้ามแต่งงานด้วย) ร่วมเดินทางไปกับนาง และระยะทางในการเนรเทศนั้นต้องเป็นระยะทางที่อนุญาตให้ละหมาดย่อได้ขึ้นไป

หลักฐานว่าด้วยการขว้างก้อนหินจนตายในกรณีของผู้กระทำผิดที่เป็นมุฮฺซอนคือ การกระทำที่มีรายงานมาจากท่านนบี และอายะฮฺอัลกุรฺอานที่ถูกยกเลิกการอ่าน แต่ยังคงใช้ข้อตัดสินจากอายะฮฺนั้น คืออายะฮฺที่ว่า :

( اَلشَّيْخُ وَالشَّيْخَةُ إِذَازَنَيَافَارْجُمُوْهُمَاالْبَتَةَ نَكَالاًمِنَ اللهِ وَالله عَزِيْزٌحَكِيْمٌ )

“ชายที่แต่งงานแล้วและหญิงที่แต่งงานแล้ว เมื่อทั้งสองได้กระทำผิดประเวณี พวกท่านจงขว้างบุคคลทั้งสองโดยเด็ดขาด (ถึงตาย) อันเป็นการลงทัณฑ์จากพระองค์อัลลอฮฺ  และอัลลอฮฺทรงเกียรติยิ่ง อีกทั้งทรงปรีชาญาณยิ่ง”

เงื่อนไขในการลงโทษผู้กระทำผิดประเวณี มีดังนี้

(1) ผู้กระทำผิดเป็นมุสลิม มีสติ สัมปชัญญะ บรรลุศาสนภาวะ และกระทำไปโดยสมัครใจ ไม่ถูกบังคับ

(2) การกระทำผิดประเวณีนั้นปลอดข้อคลุมเครือที่ศาสนาอนุโลมให้ อาทิเช่น ชายพบหญิงนอนหลับอยู่ในที่นอนของตนแล้วเข้าใจว่าหญิงนั้นคือภรรยาของตนแล้วมีเพศสัมพันธ์ระหว่างกัน ต่อมาปรากฏว่าหญิงนั้นมิใช่ภรรยาของตน ในกรณีเช่นนี้ไม่มีการลงโทษตามที่ศาสนากำหนดไว้

(3) การกระทำผิดประเวณีนั้นได้รับการยืนยันที่เด็ดขาด เช่น ด้วยการสารภาพของผู้กระทำผิดนั้นด้วยสำนวนการสารภาพที่ชัดเจนเด็ดขาด และอยู่ในสภาวะที่ปกติ หรือด้วยการเป็นพยานของชายที่เที่ยงธรรม 4 คน

(4) ผู้กระทำผิดประเวณีต้องไม่กลับคำรับสารภาพก่อนการดำเนินบทลงโทษ

วิธีการในการลงโทษผู้กระทำผิดประเวณี

อิหม่ามทั้งสี่ท่านเห็นพ้องตรงกันว่า ผู้ถูกลงโทษให้ถูกขว้างที่เป็นชายนั้น ให้ลงโทษในสภาพที่จำเลยนั้นยืน โดยไม่ถูกผูกมัดกับสิ่งใด และไม่ต้องขุดหลุม ไม่ว่าการกระทำผิดนั้นจะได้รับการยืนยันด้วยการสารภาพหรือด้วยพยานก็ตาม

ส่วนถ้าผู้ถูกลงโทษเป็นหญิง ก็สมควรขุดหลุมลึกถึงอกของนาง หากการกระทำผิดของนางได้รับการยืนยันด้วยพยาน

ส่วนในกรณีที่นางสารภาพนั้น ไม่ต้องขุดหลุม ทั้งนี้เพื่อที่นางจะได้หนีได้หากนางกลับคำให้การสารภาพ

และในการขว้างนั้นให้ใช้ก้อนหินขนาดปานกลาง (พอดีมือ) ไม่เล็กและไม่ใหญ่เกินไป โดยการลงโทษให้กระทำต่อหน้า ผู้มีอำนาจ (อิหม่าม) หรือตัวแทนและต่อหน้าพยานรับรู้ที่มีจำนวนไม่น้อยกว่า 4 คน และเมื่อจำเลยได้เสียชีวิตแล้ว ให้จัดการศพตามปกติคือ อาบน้ำศพ ห่อศพ ละหมาด และนำไปฝัง

ส่วนกรณีการลงโทษด้วยการเฆี่ยนนั้น ให้จำเลยนั่งลงกับพื้น และเฆี่ยนที่หลังและอวัยวะส่วนอื่นที่มิใช่ใบหน้าและอวัยวะเพศ หรืออวัยวะที่อาจเป็นอันตรายถึงตายได้ และให้ใช้แส้ขนาดปานกลางในการเฆี่ยน ในกรณีของจำเลยที่เป็นหญิงให้นางปกปิดเรือนร่างด้วยผ้าบางๆ

โดยการลงโทษให้กระทำต่อหน้าผู้คนโดยเปิดเผย และไม่ให้ลงโทษในมัสยิดสถาน และการลงโทษไม่ว่าจะเป็นการเฆี่ยนหรือการขว้างด้วยก้อนหินต้องได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจ (อิหม่าม) เท่านั้น

ในกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นหญิงที่ตั้งครรภ์ ให้รอจนกว่านางจะคลอดเสียก่อน พร้อมกับให้เวลานางในการให้นมลูกของนางเป็นเวลา 2 ปี

และในการลงโทษด้วยการเฆี่ยนนั้นต้องไม่กระทำในเวลาที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด , ขณะป่วย หรือขณะมีเลือดนิฟาสหรือมีการตั้งครรภ์ ทั้งนี้เพราะการเฆี่ยนมีเป้าหมายเพื่อการปรามและทำให้หลาบจำมิใช่ทำให้ถึงแก่ชีวิต


4. รักร่วมเพศ (อัล-ลิวาฏ)

อัล-ลิวาฎ (اَللِّوَاطُ)  หมายถึง การสมสู่กันระหว่างชายกับชาย หรือระหว่างชายกับหญิงที่มิใช่ภรรยาของตนทางทวารหนัก การกระทำเช่นนี้ศาสนาอิสลามถือว่าเป็นข้อห้ามอย่างเด็ดขาด ผู้ที่ฝ่าฝืนจะต้องถูกลงโทษสถานหนัก เช่นเดียวกับความผิดของการผิดประเวณี (อัซซินา)

ในส่วนของผู้กระทำ (อัลฟาอิลฺ) นั้นหากมีพยานยืนยันหรือผู้กระทำผิดได้สารภาพ ถ้าผู้กระทำผิดเป็น     มุฮฺซอน (ผ่านการสมรสแล้ว) ก็จะถูกขว้างจนตาย แต่ถ้าผู้กระทำผิดมิใช่มุฮฺซอน (ยังไม่เคยผ่านการสมรสมาก่อน) ก็จะถูกเฆี่ยน 100 ที และเนรเทศเป็นเวลา 1 ปี ส่วนผู้ถูกกระทำ (อัลมัฟอูลุบิฮี) ซึ่งมิใช่ภรรยาของผู้กระทำผิดก็จะถูกเฆี่ยนและถูกเนรเทศเช่นเดียวกับกรณีของคนโสด ถึงแม้ว่าผู้ถูกกระทำจะเคยผ่านการสมรสมาแล้วก็ตาม (มุฮฺซอน) และไม่ว่าผู้ถูกกระทำจะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม

มีบางทัศนะระบุว่า ให้ขว้างหญิงที่ผ่านการสมรสแล้วจนตายในกรณีนี้ และในคำกล่าวหนึ่งของอิหม่าม  อัชชาฟีอีย์ (ร.ฮ.) ระบุว่า ผู้ที่กระทำผิดในคดีรักร่วมเพศนี้จะต้องถูกประหารชีวิตโดยอาศัยหะดีษที่รายงานโดยบรรดาเจ้าของ อัส-สุนัน จากอับดุลลอฮฺ อิบนิ อับบาส (ร.ฎ.) ว่าแท้จริงท่านนบี ได้กล่าวว่า:

( مَنْ وَجَدْتُمُوْهُ يَعْمَلُ عَمَلَ قَوْمِ لُوْطٍ فَاقْتُلُواالْفَاعِلَ وَالْمَفْعُوْلَ بِهِ )

“ผู้ใดที่พวกท่านพบว่าเขาได้กระทำเยี่ยงการกระทำของกลุ่มชนนบีลูฏแล้ว พวกท่านก็จงสังหารทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำนั้นเสีย”

(รายงานโดย อัตติรมิซี -1456-/ อบูดาวูด -4462-/ อิบนุมาญะฮฺ -2561-)

อนึ่งกรณีการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักกับหญิงผู้เป็นภรรยานั้น ถือเป็นสิ่งต้องห้ามและเป็นส่วนหนึ่งจากบาปใหญ่ เนื่องจากมีระบุมาในบรรดาหะดีษเป็นจำนวนมากที่สาปแช่งผู้กระทำสิ่งดังกล่าว อาทิเช่น หะดีษที่รายงานโดยอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) จากท่านนบี ว่า :   (مَلْعُوْنٌ مَنْ أَتٰى امْرَأَةًفِىْ دُبُرِهَا)   “ผู้ที่ร่วมเพศกับหญิงหนึ่งทางทวารหนักของนางย่อมถูกสาปแช่ง”  (รายงานโดย อบูดาวูด -2162-)

ดังนั้นหากปรากฏว่าสามีได้ร่วมเพศกับภรรยาของตนทางทวารหนัก ก็ให้ผู้พิพากษา (กอฎี) กำหนดบทลงโทษที่เหมาะสมได้ แต่บทลงโทษดังกล่าวจะต้องไม่ถึงขั้นต่ำสุดของบทลงโทษสถานหนักที่ศาสนากำหนดเอาไว้

ส่วนการรักร่วมเพศระหว่างหญิงกับหญิงนั้น ภาษาอาหรับเรียกว่า อัส-สิหาก (اَلسِّحَاقُ)  ถือเป็นสิ่งต้องห้ามโดยการเห็นพ้องของบรรดานักปราชญ์ และเนื่องจากมีหะดีษระบุว่า :

( لاَيَنْظُرُالرَّجُلُ إِلَى عَوْرَةِالرَّجُلِ ، وَلاَالْمَرْأَةُإِلَى عَوْرَةِالْمَوْ أَةِ ولاَيُفْضِى الرَّجُلُ إِلَى الرَّجُلِ فِى ثَوْبٍ وَاحِدٍ ، وَلاَتُفْضِى المَرْأةُ إِلَى المَرْأَةِفِى ثَوْبٍ وَاحِدٍ )

“ชายจะต้องไม่มองไปยังอวัยวะพึงปกปิดของชาย และหญิงจะต้องไม่มองไปยังอวัยวะพึงปกปิดของหญิง และชายจะต้องไม่สัมผัสเสียดผิวกายยังชายในผ้าคลุมผืนเดียวกัน และหญิงจะต้องไม่สัมผัสเสียดสีผิวกายยังหญิงในผ้าคลุมผืนเดียวกัน”

(รายงานโดย อะห์หมัด , มุสลิม อบูดาวูด และติรมีซี)

ดังนั้นการสัมผัสกายโดยตรงระหว่างหญิงกับหญิงด้วยการเสียดสี เล้าโลม กอดฟัด รัดเหวี่ยงเยี่ยงการกระทำของพวกเลสเบี้ยนนั้น จึงเป็นสิ่งต้องห้าม และมีโทษตามดุลยพินิจของ ผู้พิพากษาหรือผู้มีอำนาจ แต่ไม่ถึงขั้นของโทษในคดีความผิดว่าด้วยการผิดประเวณี (อัซซินา) หรือการรักร่วมเพศระหว่างชายกับชายทางทวารหนัก (อัลลิวาฏ)

5. การดื่มสุรา

ในภาษาอาหรับเรียกสุราว่า อัล-คอมรุ้ اَلْخَمْرُ  นักวิชาการกฏหมายอิสลามส่วนใหญ่มีความเห็นว่า 

สุรา (อัล-คอมรุ้) หมายถึง เครื่องดื่มที่ทำให้เกิดอาการมึนเมาทั้งหมด ไม่ว่าจะทำมาจากวัตถุชนิดใดก็ตาม และไม่ว่าจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปก็ตาม และไม่ว่าการดื่มนั้นจะมากหรือน้อยก็ตาม เนื่องจากมีหะดีษระบุว่า :  (كُلُّ مُسْكِرٍخَمْرٌ ، وَكُلُّ خَمْرٍحَرَامٌ) “ทุกสิ่งที่ทำให้มึนเมา คือ คอมรุน และคอมรุนทั้งหมดคือสิ่งต้องห้าม” (รายงานโดย มุสลิม -7-)

 

คำว่า คอมรุน (خَمْرٌ) ในหะดีษ หมายถึง สิ่งที่ปกปิดสติปัญญา หมายถึง ทำให้ขาดสติและการใช้ความคิดทางปัญญาตามปกติสูญเสียไป ดังนั้นเครื่องดื่มทุกชนิดที่ทำให้ขาดสติและสมรรถภาพทางปัญญาสูญเสียไป ถือเป็นสิ่งต้องห้ามด้วยตัวบทจากอัลกุรฺอาน และจำเป็นต้องถูกลงโทษตามที่มีระบุในอัล-หะดีษ พระองค์อัลลอฮฺ ทรงระบุเอาไว้อย่างเด็ดขาดในอัลกุรฺอานว่า  

( فَهَلْ أَنتُم مُّنتَهُونَ ) “ดังนั้นพวกท่านจงเลิกเสียเถิด”  (สูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 91)   

และพระดำรัสที่ว่า :  ( فَاجْتَنِبُوهُ )  “ดังนั้นพวกท่านจงหลีกห่างมันเถิด”  (สูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 90)

เหตุนี้ ศาสนาอิสลามได้บัญญัติห้ามการดื่มสุราเพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ทางศาสนา สติปัญญา ร่างกายและทรัพย์สินของมุสลิม

การลงโทษผู้ที่ดื่มสุรา

เมื่อผู้ดื่มสุราได้สารภาพหรือมีพยานที่เที่ยงธรรม 2 คน ยืนยันว่าผู้นั้นได้ดื่มสุรา ก็ให้ลงโทษผู้นั้นโดยการเฆี่ยน 40 ที และอนุญาตให้เฆี่ยนได้ถึง 80 ที

ทั้งนี้มีหลักฐานรายงานจากท่าน อะนัส อิบนุ มาลิก (ร.ฎ.) ว่า :  “แท้จริงท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ได้เคยเฆี่ยนในเรื่องการดื่มสุราด้วยรองเท้าแตะและก้านอินทผาลัม 40 ที” (รายงานโดย มุสลิม -1706-)

และมีรายงานว่า : แท้จริงท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ได้ใช้ให้เฆี่ยนอัลวะลีด อิบนุ อุกบะฮฺ อิบนิ อบีมุอัยฏ์ แล้วท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ ญะอฺฟัร (ร.ฎ.) ก็เฆี่ยนอัลวะลีด โดยท่านอะลี (ร.ฎ.) คอยนับอยู่ จนกระทั่งถึง 40 ครั้ง แล้วท่านอุษมานฯ ก็กล่าวว่า  : จงระวังเถิด! หลังจากนั้นท่านก็กล่าวว่า

جَلَدَالنَّبِىُّ صلى الله عليه وسلم أَرْبَعِيْنَ ، وَجَلَدَأَبُوْبَكْرٍأَرْبَعِيْنَ ، وَعُمَرُثَمَانِيْنَ وَكُلُّ سُنَّةٌ ، وَهَذَاأَحَبُّ إِلَيَّ

“ท่านนบี   ได้เฆี่ยน 40 ครั้ง , อบูบักรได้เฆี่ยน 40 ครั้ง และอุมัรฯ (เฆี่ยน) 80 ครั้ง และทั้งหมดเป็นสุนนะฮฺ และอันนี้เป็นที่ชอบยังฉันมากกว่า หมายถึง การเฆี่ยนเพียง 40 ครั้ง”

(รายงานโดย มุสลิม -1707-)

           การลงโทษผู้กระทำความผิดในโทษฐานดื่มสุรา ให้ผู้กระทำผิดนั่งบนพื้น และเฆี่ยนที่หลังของผู้กระทำผิดด้วยแส้ขนาดปานกลาง ส่วนผู้หญิงนั้นให้นางปกปิดร่างกายด้วยผ้าบางๆ

         อนึ่ง การลงโทษผู้กระทำผิดในโทษฐานดื่มสุรานั้น ให้ลงโทษเพียงหนเดียว ถึงแม้ว่าก่อนหน้าลงโทษผู้กระทำผิดจะดื่มสุราหลายครั้งก็ตาม ดังนั้นเมื่อมีการดื่มสุราอีกหลังจากการดำเนินการลงโทษไปแล้ว ก็ให้ลงโทษได้อีกตามความผิดที่ก่อขึ้นในครั้งหลังเป็นกรณีๆ ไป

เงื่อนไขในการลงโทษผู้ดื่มสุรา มี 8 ประการคือ

(1) ผู้ดื่มสุรามีสติสัมปชัญญะ ไม่วิกลจริต

(2) บรรลุศาสนภาวะ

(3) เป็นมุสลิม

(4) กระทำโดยสมัครใจ มิได้ถูกบังคับ

(5) การดื่มสุรานั้นมิได้เกิดขึ้นในกรณีคับขัน

(6) รู้ว่าสิ่งที่ตนดื่มคือสุรา

(7) รู้ว่าสุราเป็นสิ่งต้องห้าม

(8) ทัศนะที่ผู้นั้นสังกัด (มัซฮับ) ถือว่าสิ่งที่ดื่มนั้นเป็นที่ต้องห้าม

อนึ่งยาเสพติดให้โทษร้ายแรง เช่น กัญชา, ฝิ่น, เฮโรอีน และยาบ้า เป็นต้น ถือเป็นสิ่งต้องห้าม ไม่ว่าจะมีวิธีในการเสพอย่างไรก็ตาม เพราะเป็นสิ่งที่มีโทษต่อสติปัญญาและร่างกาย ส่วนการลงโทษผู้เสพนั้นให้เป็นไปตามดุลยพินิจของศาล เช่น จำคุก, เฆี่ยน หรือการประนาม  เป็นต้น ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าการลงโทษดังกล่าวต้องไม่ถึงขั้นต่ำสุดจากการลงโทษที่มีการกำหนดเอาไว้ตามบัญญัติของศาสนา

การพนัน

การพนันเรียกในภาษาอาหรับว่า  อัล-กิม๊ารฺ  (اَلْقِمَارُ)  หรือ  อัล-มัยซิรฺ  (اَلْمَيْسِرُ)  หมายถึง  การเล่นเอาเงินหรือสิ่งอื่นด้วยการเสี่ยงโชคหรือฝีมือ  อาทิเช่น  การเล่นลูกเต๋า,  หมากรุก,  ถั่ว,  หัวแหวน,  ไข่,  ก้อนหิน  เป็นต้น  นักวิชาการเห็นพ้องตรงกันว่า  ทุก ๆ การละเล่นที่มีการพนันถือเป็นสิ่งต้องห้าม  (หะรอม)  และถือเป็นส่วนหนึ่งจากการกิน  (ได้มาซึ่ง)  ทรัพย์สินของผู้คนโดยมิชอบ  (บาฏิล)  ซึ่งพระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي)  ทรงบัญญัติห้ามเอาไว้ในพระดำรัสที่ว่า

وَلاَ تَأْكُلُواْ أَمْوَالَكُم بَيْنَكُم بِالْبَاطِلِ

“และสูเจ้าทั้งหลายอย่าได้กินทรัพย์สินของหมู่สูเจ้า ระหว่างหมู่สูเจ้าด้วยกันโดยมิชอบ” (อัล-บะกอเราะฮฺ  อายะฮฺที่  188)

และพระดำรัสที่ว่า  :

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ إِنَّمَا الْخَمْرُ وَالْمَيْسِرُ وَالأَنصَابُ وَالأَزْلاَمُ رِجْسٌ مِّنْ عَمَلِ الشَّيْطَانِ فَاجْتَنِبُوهُ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ 

“โอ้บรรดาศรัทธาชน  อันที่จริงสุรา,  การพนัน,  สัตว์ที่ถูกเชือด  ณ  แท่นบูชาและการเสี่ยงทายนั้นคือความสกปรกโสมมอันมาจากงานของมารร้าย ดังนั้นสูเจ้าทั้งหลายจงหลีกห่างมันเถิด  หวังว่าสูเจ้าทั้งหลายจะได้รับความสัมฤทธิผล”  (อัล-มาอิดะฮฺ  อายะฮฺที่  90)

และมีอัล-หะดีษระบุว่า

إِنَّ رِجَالاً يَتَخَوَّضُوْنَ فِى مَالِ اللهِ بِغَيْرِحَقٍّ فَلَهُمُ النَّارُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ

“แท้จริงบรรดาบุคคลที่ล่วงล้ำเข้าไปในทรัพย์สินของพระองค์อัลลอฮฺโดยมิชอบนั้น สำหรับพวกเขาคือนรกอเวจีในวันกิยามะฮฺ”  (อ้างจากอัล-กะบาอิรฺ, อัซซะฮฺบีย์)

และอัล-หะดีษที่รุบุว่า  :

مَنْ قَالَ لِصَاحِبِه تَعَالَ أُقَامِرْكَ فَلْيَتَصَدَّقْ

“ผู้ใดกล่าวกับเพื่อนของเขาว่า  “มาเถิด!  ฉันจะพนันกับท่าน”  ผู้นั้นจงบริจาคทานเสีย!”  (รายงานโดยบุคอรี)

จากอัล-หะดีษบทนี้จะเห็นได้ว่า  เพียงแค่บุคคลพูดจาชักชวนบุคคลอื่นให้เล่นการพนันก็ถือว่าบุคคลผู้นั้นจำต้องเสียค่าปรับ  (กัฟฟาเราะฮฺ)  ด้วยการบริจาคทานเพื่อลบล้างความผิดที่เกิดขึ้นจากคำพูด  ดังนั้นการเล่นการพนันจริง ๆ จึงถือเป็นสิ่งที่ต้องห้ามและถือเป็นการประพฤติผิดบาปใหญ่  (กะบาอิรฺ)  ซึ่งจำเป็นที่บุคคลผู้นั้นต้องเตาบะฮฺ  (สำนึกผิด)  ตามเงื่อนไขที่ศาสนาได้กำหนดเอาไว้คือ

– ละเลิกและถอนตัวจากการเล่นการพนันโดยเด็ดขาด

– เสียใจต่อการประพฤติผิดนั้น

– ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่หวนกลับไปประพฤติผิดด้วยการเล่นการพนันอีก

– ต้องคืนทรัพย์สินที่ได้มาโดยการพนันนั้นแก่เจ้าของทรัพย์สิน

อนึ่งถึงแม้ว่าการพนันจะเป็นสิ่งต้องห้ามและถือเป็นบาปใหญ่เช่นเดียวกับการดื่มสุราแต่เนื่องจากการพนันไม่มีข้อกำหนดบทลงโทษโดยตัวบทของศาสนาดังเช่นกรณีการดื่มสุรา  แต่ผู้มีอำนาจหรือศาลสามารถตัดสินคดีการเล่นการพนันได้โดยใช้ดุลยพินิจตามคดีลหุโทษ  (อัต-ตะอฺซีรฺ)  เช่น  การเฆี่ยนที่ไม่ถึงจำนวนที่ศาสนาบัญญัติเอาไว้,  การจำคุก,  การปรับ  หรือทั้งจำทั้งปรับ  เป็นต้น

เหตุผลในการบัญญัติห้ามการพนัน  มีดังนี้  คือ

– ศาสนามีความประสงค์ให้มุสลิมปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และแนวทางของพระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي)  ที่ทรงกำหนดเอาไว้ในเรื่องการแสวงหาปัจจัยยังชีพที่เป็นที่อนุมัติ  (หะล้าล)  การพากเพียรและมุ่งมานะในการประกอบอาชีพตลอดจนการยึดมั่นในทำนองคลองธรรมในการได้มาซึ่งทรัพย์สิน

– การพนันเป็นอบายมุขที่ส่งผลร้ายต่อศรัทธาและความเชื่อของบุคคล  ดังจะเห็นได้ว่า  พระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي)  ทรงบัญญัติห้ามการเล่นการพนันเคียงคู่กับการดื่มสุรา  การบริโภคเนื้อสัตว์ที่ถูกเชือดในบริเวณแท่นบูชาเจว็ดซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการตั้งภาคี  การเสี่ยงทาย  ซึ่งมอมเมาบุคคลให้จมปลักอยู่กับเรื่องของโชคลางและความหวังลมๆ แล้งๆ

– การพนันเป็นการทำให้เสียทรัพย์  เป็นต้นเหตุแห่งการเป็นหนี้เป็นสิน  ซึ่งสร้างผลร้ายให้กับตัวของบุคคลที่เล่นการพนันและบุคคลรอบข้างโดยเฉพาะครอบครัวตลอดจนเป็นสาเหตุของอาชญากรรมที่คุกคามต่อความสงบสุขของสังคมโดยส่วนรวม

– การพนันและการดื่มสุรา  เป็นต้นเหตุให้เกิดความบาดหมาง  ความชิงชังและความอาฆาตพยาบาท  ผู้เล่นการพนันย่อมมีทั้งผู้ที่ได้และผู้ที่เล่นเสีย  และความสิ้นหวังอันเกิดจากการเสียพนันในครั้งแรกจะผลักดันให้ผู้ที่เสียพนันหวนกลับไปสู่การเล่นพนันอีกครั้งเพื่อแสวงหาสิ่งทดแทนจากการสูญเสียในครั้งแรก  เมื่อเป็นฝ่ายชนะในการพนันก็เกิดความย่ามใจแต่ในท้ายที่สุดก็เสียทรัพย์สินจนหมดตัว  อัลกุรอานฺได้ระบุเอาไว้ว่า  :

إِنَّمَا يُرِيدُ الشَّيْطَانُ أَن يُوقِعَ بَيْنَكُمُ الْعَدَاوَةَ وَالْبَغْضَاء فِي الْخَمْرِ وَالْمَيْسِرِ وَيَصُدَّكُمْ عَن ذِكْرِ اللّهِ وَعَنِ الصَّلاَةِ فَهَلْ أَنتُم مُّنتَهُونَ

“อันที่จริงมารร้ายนั้นมันมุ่งหมายต่อการให้เกิดความเป็นศัตรูและความชิง ชังระหว่างหมู่สูเจ้า  ด้วยเหตุของการดื่มสุราและการเล่นพนันและมุ่งหมายต่อการขัดขวางสูเจ้าทั้ง หลายจากการรำลึกถึงพระองค์อัลลอฮฺและจากการละหมาด  ดังนั้นพวกท่านทั้งหลายจงยุติเสียเถิด

(อัล-มาอิดะฮฺ  อายะฮฺที่  91)

สิ่งที่เข้าข่ายว่าเป็นการพนัน

การละเล่นหรือการแข่งขันทุกชนิดที่มีการพนันเข้าไปเกี่ยวข้องถือเป็นสิ่งต้องห้าม  (หะรอม)  อาทิเช่น  การพนันในการเล่นหมากรุก,  การทอยลูกเต๋า,  การเล่นโฮโล,  การเล่นถั่ว,  การเล่นน้ำเต้าปูปลา,  การพนันที่เกี่ยวข้องกับกีฬา  เช่น  มวยตู้,  การพนันฟุตบอล  เป็นต้น  นอกจากนี้การเล่นหวย,  ลอตเตอรี่  หรือสลากกินแบ่งรัฐบาล  ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายถือเป็นสิ่งต้อง  (หะรอม)  เช่นกัน

อนึ่ง  การละเล่นบางชนิดและการแข่งขันบางประเภท  เช่น  การเล่นหมากรุก,  เพื่อฝึกสมองและปฏิภาณไหวพริบ,  การยิงธนู,  การขี่ม้า,  การวิ่งแข่ง  เป็นต้น  ถือเป็นสิ่งที่อนุมัติ  (มุบาหฺ)  แต่มีเงื่อนไข  3  ประการดังนี้  คือ

– การละเล่นและการแข่งขันดังกล่าวต้องไม่เป็นเหตุทำให้เกิดความล่าช้าในการละหมาดจนเลยเวลาการละหมาดที่ถูกกำหนดไว้

– ต้องไม่มีการพนันเข้าไปเกี่ยวข้อง

– ผู้เล่นต้องรักษามารยาทในระหว่างการเล่นหรือการแข่งขัน  ไม่พูดจาหยาบคาบ  ไม่ด่าทอ  เป็นต้น  หากขาดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดจาก  3  ประการนี้นักวิชาการถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม  (หะรอม)

การแข่งขัน

การแข่งขันเรียกในภาษาอาหรับว่า  อัส-สิบ๊าก  (اَلسِّبَاقُ)  หรือ  อัล-มุสาบะเกาะฮฺ  (اَلمُسَابَقَةُ)  คือการที่บุคคลแข่งขันกับเพื่อน  (คู่แข่ง)  ในการขี่ม้าหรืออูฐ  เป็นต้น

การแข่งขันเป็นที่อนุมัติโดยมีหลักฐานจากอัส-สุนนะฮฺ  และอัล-อิจญ์มาอฺ  และการแข่งขันได้รับการยกเว้นจาก  3  เรื่องอันเป็นที่ต้องห้าม  คือ  การพนัน,  การทรมานสัตว์ที่มิใช่เรื่องการกินและการได้สิ่งทดแทนและเดิมพันสำหรับบุคคลเพียงคนเดียว  ในกรณีเมื่อผู้แข่งขันทั้ง  2  ฝ่ายได้ยื่นสิ่งทดแทนเอาไว้  (วางเดิมพัน)  เพื่อให้ผู้ชนะเอาสิ่งทดแทนและเดิมพันนั้น

ประเภทของการแข่งขัน

การแข่งขัน  (อัล-มุสาบะเกาะฮฺ)  มี  2  ชนิด  คือ

– การแข่งขันโดยไม่มีสิ่งทดแทน  (อัล-อิวัฎ)  ถือเป็นสิ่งที่อนุมัติ  (ญาอิซฺ)  โดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไขด้วยสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่แน่นอน  เช่น  การแข่งขันเดิน,  แข่งเรือ,  แข่งนก,  แข่งล่อ,  แข่งลา  และแข่งช้าง  เป็นต้น  และอนุญาตให้แข่งขันมวยปล้ำและการยกก้อนหินเพื่อให้รู้ว่าผู้แข่งขันคนใดแข็งแรงกว่า  หลักฐานการแข่งขันชนิดนี้  คือการวิ่งแข่งของท่านนบีฯ (صلى الله عليه وسلم)  กับท่านหญิงอาอิชะฮฺ  (ร.ฎ.)  ซึ่งในครั้งแรกของท่านนบีฯ (صلى الله عليه وسلم)  แพ้ให้กับท่านหญิงอาอิชะฮฺ  (ร.ฎ.)  และในครั้งที่  2  ท่านชนะ  (รายงานโดยอะหฺหมัด,  อบูดาวูด,  อัชชาฟิอีย์,  อัน-นะสาอีย์และท่านอื่น ๆ ) 

และท่านสลามะฮฺ  อิบนุ  อัล-อักวะอฺได้แข่งขันวิ่งกับชายชาวอันศ๊อรต่อหน้าท่านนบีฯ (صلى الله عليه وسلم)  และปรากฏว่าท่านสลามะฮฺได้รับชัยชนะ  (รายงานโดยมุสลิมและอะหฺหมัด)  และท่านนบีฯ (صلى الله عليه وسلم)  เคยแข่งมวยปล้ำกับรุกกานะฮฺ  (รายงานโดยอบูดาวูด)  และให้ใช้หลักการกิยาสกับการแข่งขันในประเภทอื่น ๆ เทียบกับสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น

– การแข่งขันโดยมีสิ่งทดแทน  (อัล-อิวัฎ)  นักวิชาการส่วนใหญ่  (ญุมฮู๊รฺ)  มีความเห็นว่า  ไม่อนุญาตให้แข่งขันโดยมีสิ่งทดแทนนอกเสียจากในการยิงธนู  อูฐและม้า  อันเป็นการฝึกในเรื่องการใช้อาวุธและการขี่สัตว์พาหนะที่ใช้ในสงคราม

เงื่อนไขในการอนุญาตให้มีการแข่งขันโดยมีสิ่งทดแทน

– การแข่งขันนั้นต้องอยู่ในประเภทที่มีประโยชน์ในการญิฮาด  คือ  การแข่งขันยิงธนู,  ขี่อูฐและม้า

– สิ่งทดแทน  (อัล-อิวัฎ)  จะต้องมาจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่ร่วมแข่งขันหรือมาจากบุคคลที่  3  อาทิเช่น  บุคคลหนึ่งกล่าวแก่เพื่อนของเขาว่า  “หากท่านเอาชนะฉันได้  ฉันจะมอบสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้แก่ท่านและถ้าหากฉันเอาชนะท่านได้  ท่านก็ไม่ต้องเสียสิ่งใด”  หรือ  ผู้ปกครอง  หรือบุคคลที่  3  กล่าวว่า  :  “คนใดจากท่าน  2  คนชนะ  ผู้นั้นย่อมได้สิ่งนั้นสิ่งนี้จากฉัน”  ทั้งนี้ในกรณีดังกล่าวไม่มีการพนันอันเป็นที่ต้องห้าม  หากแต่การจ่ายสิ่งทดแทนเป็นการให้รางวัลหรือสิ่งตอบแทน  (อัลมุกาฟะอะฮฺ)

ดังนั้นถ้าหากปรากฏว่า  สิ่งทดแทน  (อัล-อิวัฎ)  มาจากทั้ง  2  ฝ่าย  ก็เรียกว่า  การเดิมพัน  (อัร-ริฮาน)  ซึ่งการเดิมพันจะใช้ไม่ได้นอกเสียจากต้องมีมุหัลลิ้ล  (مُحَلِّلٌ)  คือบุคคลที่  3  ที่ทำให้ข้อห้ามเป็นที่อนุญาต  กล่าวคือ  มีการยกเลิกข้อตกลงที่ทำเอาไว้และทำให้มันออกจากรูปของการพนันอันเป็นที่ต้องห้าม 

ดังเช่น  ทั้ง  2  ฝ่ายตกลงกันในการที่แต่ละฝ่ายจะกำหนดเงินจำนวน  100  บาท  หรือหนึ่งใน  2  ฝ่ายกำหนดไว้  80  บาท  อีกฝ่ายหนึ่ง  20  บาท  โดยแต่ละฝ่ายจะจ่ายสิ่งที่ถูกกำหนดเอาไว้แก่บุคคลอื่น  (คือบุคคลที่  3  ที่ร่วมแข่งซึ่งเรียกว่า  มุหัลลิล)  ซึ่งปรากฏว่าม้าหรืออูฐของเขาทัดเทียม  (มีลักษณะเสมอกันและสู้กันในการแข่งขันได้)  กับม้าหรืออูฐทั้ง  2  ตัวของทั้ง  2  ฝ่ายแรก  เป็นต้น 

ดังนั้นถ้าหากม้าหรืออูฐของบุคคลที่  3  (มุหัลลิล)  ชนะม้าหรืออูฐของ  2   ฝ่ายแรก  บุคคลที่  3  ก็เอาทรัพย์ทั้ง  2  จากทั้ง  2  ฝ่ายแรก  แต่ถ้าหากม้าหรืออูฐของทั้ง  2  ฝ่ายชนะม้าหรืออูฐของบุคคลที่  3  และม้าหรืออูฐของทั้ง  2  ฝ่ายถึงเส้นชัยพร้อมกัน  ก็ย่อมไม่มีสิ่งใดเป็นสิทธิสำหรับคนหนึ่งเหนืออีกคนหนึ่ง  เพราะผู้วางเดิมพันทั้งสองเสมอกัน  และเพราะบุคคลที่  3  (มุหัลลิล)  ไม่จำเป็นต้องจ่ายสิ่งใดอันเนื่องจากม้าหรืออูฐของเขาเข้าสู่เส้นชัยทีหลัง (แพ้)  และถ้าฝ่ายบุคคลที่  3  มาถึงเส้นชัยพร้อมกับหนึ่งใน  2  ฝ่ายเป็นอันดับแรก  และหนึ่งในสองฝ่ายมาถึงทีหลัง  ทรัพย์ของฝ่ายที่  1  จาก  2  ฝ่ายนั้นก็อยู่พร้อมกับบุคคลที่  3  และทรัพย์ของฝ่ายที่มาถึงทีหลังจาก  2  ฝ่ายนั้นก็จะถูกนำมาแบ่งเท่า ๆ กันระหว่างบุคคลที่  3  (มุหัลลิล)  กับฝ่ายที่เข้าเส้นชัยพร้อมกัน 

การแข่งขันในลักษณะที่มีบุคคลที่  3  เข้ามาร่วมด้วยนี้ถือว่าอนุญาตโดยไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด  ดังนั้นการแข่งขันในลักษณะที่ต้องห้ามและถือว่าเป็นการพนันก็คือ  การที่แต่ละฝ่ายจากผู้แข่งขัน  2  ฝ่ายจำต้องจ่ายเงินจำนวนหนึ่งแก่ฝ่ายที่ชนะ  ฝ่ายใดแพ้ก็จำต้องจ่ายจำนวนเงินที่ตกลงกันไว้แก่ฝ่ายที่ชนะนั่นเอง 

ทั้งนี้หากมีบุคคลที่  3  เข้าร่วม  (มุหัลลิล)  ตามรายละเอียดที่กล่าวมาแล้ว  ก็จะทำให้การแข่งขันนี้ซึ่งมีการพนันออกจากรูปของการพนันอันเป็นที่ต้องห้ามไปสู่รูปการแข่งขันที่อนุญาต  ซึ่งการพิจารณาว่าการแข่งขันมีเรื่องการพนันเข้ามาเกี่ยวข้องก็คือ  มีการได้  (หรือเอา)  และมีการเสีย  (คือให้)  จากทั้ง  2  ฝ่ายด้วยการตกลงกันว่า  ผู้ชนะจากทั้ง  2  ท่านจะเอา  (คือได้)  และผู้ที่แพ้  (ถึงเส้นชัยทีหลัง)  จากทั้ง  2  ท่านจำต้องจ่าย  เช่นนี้ถือว่าเป็นการพนันอันเป็นที่ต้องห้าม

6. ข้อห้ามเกี่ยวกับการใส่ร้าย

การใส่ร้าย  เรียกในภาษาอาหรับว่า  อัล-กอซฺฟ์  (اَلْقَذْفُ)  ซึ่งมีความหมายตามหลักภาษาว่า  การขว้าง,  การโยน  เป็นต้น  

ส่วนความหมายตามคำนิยามในกฎหมายลักษณะอาญา  คือ  การใส่ร้ายผู้อื่นว่ากระทำผิดประเวณี  (ซินา)  ในลักษณะของการบริภาษด่าทอและการใช้สำนวนบ่งบอก  อาทิเช่น  บุคคลหนึ่งได้กล่าวกับอีกบุคคลหนึ่งว่า  โอ้  ผู้ทำผิดประเวณี  หรือกล่าวว่า  เขาได้เห็นบุคคลผู้นั้นทำผิดประเวณี  หรือ  เขาได้ทำสิ่งอนาจารอย่างนั้นอย่างนี้จากการผิดประเวณีหรือรักร่วมเพศ  เป็นต้น

ข้อชี้ขาดของการใส่ร้าย

การใส่ร้ายหรือกล่าวหามุสลิมว่ากระทำผิดประเวณีถือเป็นสิ่งต้องห้าม  (หะรอม)  และเป็นบาปใหญ่ ไม่ว่าผู้กล่าวหานั้นจะพูดจริงในการกล่าวหาหรือโกหกก็ตาม  ในกรณีที่โกหกย่อมถือว่าผู้นั้นใส่ร้ายและอธรรมต่อผู้อื่นซึ่งการโกหกถือเป็นสิ่งต้องห้ามที่น่ารังเกียจที่สุด  ส่วนในกรณีที่เขาพูดจริง  ก็ย่อมถือว่าการกล่าวหานั้นเป็นการเปิดเผยความลับ  และละเมิดต่อเกียรติยศและศักดิ์ศรีของผู้อื่น  ผู้ใดที่ใส่ร้ายหรือกล่าวหาผู้อื่นว่ากระทำผิดประเวณีศาสนาถือว่าเป็นคนเลว  (ฟาซิก)  และขาดคุณสมบัติแห่งความมีคุณธรรมและมีโทษสถานหนักที่ศาสนากำหนดเอาไว้ 

ดังปรากฏหลักฐานจากอัลกุรฺอานว่า

وَالَّذِينَ يَرْمُونَ الْمُحْصَنَاتِ ثُمَّ لَمْ يَأْتُوا بِأَرْبَعَةِ شُهَدَاء فَاجْلِدُوهُمْ

ثَمَانِينَ جَلْدَةً وَلَا تَقْبَلُوا لَهُمْ شَهَادَةً أَبَدًا وَأُوْلَئِكَ هُمُ الْفَاسِقُونَ

إِلاَّ الَّذِينَ تَابُوا مِن بَعْدِ ذَلِكَ وَأَصْلَحُوا فَإِنَّ اللهَ غَفُورٌ رَّحِيمٌ

“และบรรดาผู้ซึ่งพวกเขาใส่ร้ายสตรีที่สมรสแล้วทั้งหลาย  (ว่าผิดประเวณี)  แล้วพวกเขาไม่นำพยานสี่คนมายืนยัน  ดังนั้นพวกท่านจงเฆี่ยนพวกเขาแปดสิบครั้ง  และพวกท่านอย่ารับการเป็นพยานสำหรับพวกเขาตลอดไป  และพวกเขาคือบรรดาผู้ประพฤติชั่ว  ยกเว้นบรรดาผู้ที่สำนึกผิดภายหลังการดังกล่าวและปรับปรุงตัว  ดังนั้นแน่แท้อัลลอฮฺทรงอภัยยิ่งอีกทั้งทรงเมตตายิ่ง”

(สูเราะฮฺอัน-นูร  อายะฮฺที่  4-5)

บทลงโทษการใส่ร้ายในเรื่องผิดประเวณี

บทลงโทษในคดีใส่ร้ายในเรื่องผิดประเวณีคือการเฆี่ยนด้วยแส้ 80 ที  และไม่รับการเป็นพยานของผู้ใส่ร้าย  ยกเว้นเมื่อเขาผู้นั้นสำนึกผิดและกลับตัวแล้วเท่านั้น  หลักฐานยืนยันในเรื่องนี้คือ  อายะฮฺอัลกุรฺอานที่  4-5  จากสูเราะฮฺอัน-นูร  ข้างต้น  และหะดีษที่รายงานว่า  ท่านนบีฯ  (صلى الله عليه وسلم)  ได้สั่งเฆียนกลุ่มชนที่กล่าวหาและใส่ร้ายท่านหญิงอาอิซะฮฺ  (ร.ฏ.)  จำนวนแปดสิบที  (รายงานโดยอัลฮัยซะมีในมัจญ์มะอฺ  อัซซะวาอิด  6/280)

เงื่อนไขในการลงโทษผู้ใส่ร้ายในเรื่องผิดประเวณี

ในการลงโทษผู้กระทำผิดในข้อหาการใส่ร้ายนี้จำต้องมีเงื่อนไขครบสมบูรณ์  10  ประการ  ดังนี้

เงื่อนไข  5  ประการในตัวผู้กระทำผิดข้อหาใส่ร้าย  คือ

– ต้องเป็นผู้บรรลุศาสนภาวะแล้ว

– ต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์  ไม่เป็นบ้าวิกลจริต

– ผู้กระทำความผิดต้องมิใช่บุพการีของผู้ที่ถูกใส่ร้ายเช่น  บิดา,ปู่,มารดา,ย่าหรือยาย  เป็นต้น

– ต้องกระทำไปโดยสมัครใจมิได้ถูกบังคับ

– ผู้กระทำผิดต้องรู้ว่าการใส่ร้ายในเรื่องนี้เป็นที่ต้องห้าม  (หะรอม)

เงื่อนไข 5 ประการในตัวผู้ถูกใส่ร้าย

 – เป็นมุสลิม

– บรรลุศาสนภาวะ

– มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์

– ต้องเป็นผู้บริสุทธิ์ในเรื่องเพศ  กล่าวคือ  ไม่เคยได้รับการยืนยันว่าได้ผิดประเวณีมาก่อน

– การใส่ร้ายนั้นไม่ได้เป็นไปด้วยการสมยอมหรือการอนุญาตของผู้ถูกใส่ร้าย

ดังนั้น  เมื่อปรากฏว่าเงื่อนไขดังกล่าวไม่ครบถ้วนสมบูรณ์  การลงโทษก็เป็นอันตกไป  แต่ผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจสามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้ตามดุลยพินิจซึ่งมิใช่เป็นการลงโทษตามที่ศาสนาบัญญัติเอาไว้  เช่น  คุมขัง  หรือ  ตี  เป็นต้น

สิ่งที่ทำให้การลงโทษในข้อหาใส่ร้ายตกไป

การลงโทษผู้กระทำผิดในข้อหาใส่ร้ายผู้อื่นว่าผิดประเวณีจะตกไปด้วย  3  ประการดังต่อไปนี้  คือ

1.  มีพยานยืนยันว่ามีการผิดประเวณีเกิดขึ้นจริงหรือผู้ถูกกล่าวหาให้การยอมรับสารภาพ  ดังนั้นเมื่อมีพยานอีกสามคนที่มีคุณสมบัติในการเป็นพยานได้เข้าร่วมกับผู้กล่าวหาและทั้งหมดยืนยันว่ามีการผิดประเวณีด้วยคำพูดที่ชัดเจนหรือผู้ถูกกล่าวหาให้การยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหา  การลงโทษในข้อหาใส่ร้ายผู้อื่นว่าผิดประเวณีเป็นอันตกไป  โดยเปลี่ยนไปสู่ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งต้องถูกดำเนินการลงโทษในข้อหาผิดประเวณี  แต่ถ้าหากมีพยานยืนยันน้อยกว่า  3  คนพร้อมด้วยผู้กล่าวหา  การเป็นพยานนี้ถือว่าไม่ถูกรับรองและบุคคลทั้งหมดถือเป็นผู้กระทำผิดและต้องถูกลงโทษทั้งหมด

2.  ผู้ถูกใส่ร้ายอภัยให้แก่ผู้ใส่ร้ายหรือกล่าวหาต่อหน้าผู้พิพากษา

3.  มีการลิอาน  เกิดขึ้นในกรณีที่ผู้กล่าวหาเป็นสามีและผู้ถูกกล่าวหาเป็นภรรยา

เงื่อนไขของผู้เป็นพยาน

พยานแต่ละคนจะต้องเป็นชาย  ดังนั้นหากพยานเป็นหญิงสี่คน  การเป็นพยานของพวกนางย่อมไม่ถูกยอมรับและจำต้องดำเนินบทลงโทษต่อพวกนางในข้อหาใส่ร้ายผู้อื่นว่าผิดประเวณีและผู้เป็นพยานต้องเป็นเสรีชน  มิใช่ทาส  และจะต้องเป็นมุสลิม

7. การละทิ้งการละหมาด

ความสำคัญของการละหมาด

การละหมาด  (อัศ-ศ่อลาฮฺ)  ถือเป็นเครื่องสำแดงความเป็นอิสลามอันดับแรกในวิถีชีวิตของชนมุสลิม  ดังนั้นเมื่อมุสลิมละทิ้งการละหมาด  ก็เท่ากับว่ามุสลิมผู้นั้นกำลังนำพาตนเองไปสู่การปฏิเสธ  (กุฟร์)  ซึ่งท่านนบีฯ (صلى الله عليه وسلم)  ได้กล่าวว่า  : 

  إِنَّ بَيْنَ الَّرجُلِ و بَيْنَ الشِّرْكِ وَالْكُفِر تَركَ الصَّلاَ ةِ  

“แท้จริงระหว่างบุคคลและระหว่างการตั้งภาคีกับการปฏิเสธนั้นคือการละทิ้งการละหมาด”  (รายงานโดยมุสลิม  -82-)

ข้อชี้ขาดผู้ละทิ้งการละหมาด

ผู้ละทิ้งการละหมาดมี  2  ประเภท  คือ

1.  บุคคลที่ละทิ้งการละหมาด  โดยไม่เชื่อว่าการละหมาดเป็นสิ่งจำเป็น  (วาญิบ)  หรือเห็นว่าการละหมาดเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ  บุคคลผู้นั้นถือเป็นผู้ตกศาสนา  (มุรตัด)  หรือสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิมแล้ว

2.  บุคคลที่ละทิ้งการละหมาดโดยเชื่อว่าการละหมาดเป็นสิ่งจำเป็น  (วาญิบ)  แต่ละทิ้งเนื่องจากความเกียจคร้าน  เป็นต้น  บุคคลผู้นี้ถือเป็นผู้ประพฤติผิดบาปใหญ่และเป็นคนเลว  (ฟาซิก)

บทลงโทษผู้ละทิ้งการละหมาด

ผู้ละทิ้งการละหมาดจะถูกใช้ให้สำนึกผิดและกลับตัว  (เตาบะฮฺ)  และทำการละหมาด  แต่ถ้าหากเขายืนกรานที่จะละทิ้งการละหมาดก็จะต้องถูกลงโทษประหารชีวิต  ถึงแม้จะเป็นการละหมาดเพียงเวลาเดียวก็ตาม  ทั้งนี้มีหลักฐานจากอัลหะดีษระบุว่า  :

أمِرْتُ أَنْ أُقَاتِلَ النَّاسَ حَتّى يَشْهَدُوْاأَنْ لاَإِلهَ إلا الله وأنَّ محمدً ارَسُولُ اللهِ  ،

ويُقِيْمُواالصَّلاَةَ ويُؤْتُواالزَّكَاةَ  ،  فإذافَعَلُوْاذٰلِكَ عَصَمُوْامِنِّىْ دِمَاؤَهُمْ

وأَموالَهُمْ إِلاَّبِحَقِّ الإِسْلاَمِ  ،  وحِسَابُهُمْ عَلَى اللهِ

“ฉันได้ถูกบัญชาให้รณรงค์กับผู้คนทั้งหลายจนกว่าพวกเขาจะปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าองค์ใดนอกจากอัลลอฮฺ  และแท้จริงมุฮัมมัดคือศาสนทูตของอัลลอฮฺ  และจนกว่าพวกเขาจะดำรงการละหมาดและจ่ายซะกาต  ดังนั้นเมื่อพวกเขาได้กระทำสิ่งดังกล่าวแล้ว  พวกเขาก็ได้ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของพวกเขาจากฉันแล้วเว้นเสียแต่ด้วยสิทธิแห่งอิสลาม  และการพิพากษาพวกเขาเป็นกิจของอัลลอฮฺ”

(รายงานโดยบุคอรี  -25-/มุสลิม  -22-)

ผลที่เกิดขึ้นจากการลงโทษ

ผู้ที่ละทิ้งการละหมาดอันเนื่องจากเกียจคร้านเมื่อเขาถูกประหารชีวิตตามโทษานุโทษแล้ว  ก็ให้ปฏิบัติกับศพของเขาเช่นเดียวกับชาวมุสลิมทั่วไปในเรื่องการจัดการศพและการลงโทษประหารชีวิตกับผู้กระทำผิดไม่มีผลแต่อย่างใดในเรื่องความสัมพันธ์ทางเครือญาติ  โดยญาติมีสิทธิสืบมรดกของเขาได้  และข้อกำหนดว่าด้วยการสมรสก็ยังคงดำเนินอยู่สำหรับภรรยาของเขา  ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกำหนดเวลาครองตน  (อิดดะฮฺ)  และการไว้ทุกข์ให้แก่สามี

แหล่งที่มา :  อาลี เสือสมิง จาก: http://alisuasaming.org/main/?p=1688














ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น