เรื่องฮัจย์และอุมเราะห์

ฮัจย์และอุมเราะห์
คำนิยามของฮัจย์
ฮัจย์ตามหลักภาษา หมายถึง การมุ่งไป
อัจย์ตามหลักศาสนา หมายถึง การมุ่งไปสู่บัยตุลลอฮ์เพื่อทำอีบาดะห์ที่มีระเบียบแบบแผนกำหนดไว้แล้ว
คำนิยามของอุมเราะห์
ตามหลักภาษา หมายถึง การเยี่ยมเยียน
ตามหลักศาสนา หมายถึง การมุ่งสู่บัยตุลลอฮ์ นอกเวลาการประกอบพิธีฮัจย์ เพื่อทำอิบาดะห์ที่มีระเบียบแบบแผนที่กำหนดไว้แล้ว

ความสำคัญของการทำฮัจย์และอุมเราะห์
           อัลฮัจย์เป็นอีบาดะฮ์ที่ประเสริฐสุด ที่จะลบล้างความผิดและการทำบาป เป็นอีบาดะฮ์ที่มีความใกล้ชิดต่อความโปรดปรานของอัลลอฮ์และสวนสวรรค์ของพระองค์ ทั้งนี้ เพราะอัลลอฮ์ และท่านรอซูล (ซ.ล) ได้ให้การรับรองไว้แล้วว่า "ฮัจย์มับรูร คือฮัจย์ที่ดีเป็นที่รับรองนั้น ไม่มีการตอบแทนใดๆ แก่เขานอกจากสวนสวรรค์"
                                               " اَلْحَجُّ الْمَبْرُوْرُ لَيْسَ لَه جَزاَءٌ إلاّ الْجَنَّة "
และในฮะดีษอีกบทหนึ่งท่านเราะซูล (ซ.ล. ได้กล่าวไว้ว่า                             
 سمِعْتُ النبِيَّ صلَّى الله عليه وسلَّم يقولُ : مَن حجَّ فلم يرْفُثْ ولم يفْسُقْ رجَعَ كيومِ ولَدَتْه أمُّه
 (رواه البخاري 1521 ومسلِمٌ 3292)
ผู้ใดที่ได้ประกอบพิธีฮัจญ์ และไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับภริยาและไม่ได้กระทำสิ่งชั่วร้ายอื่นๆ
เขาจะได้กลับบ้านด้วยความบริสุทธิ์เสมือนกับวันที่แม่ของเขาให้กำเนิดเขา

ข้อแตกต่างระหว่างฮัจย์และอุมเราะห์
1.      ด้านเวลา ฮัจย์มีกำหนดเวลาที่แน่นอน จะประกอบพิธีฮัจย์นอกเวลาที่กำหนดไว้ไม่ได้ เวลาที่กำหนดสำหรับการประกอบพิธีฮัจย์ก็คือ เดือนเชาวาล, ซุ้ลเกาะอฺดะห์ และสิบวันแรกของเดือนซุ้ลฮิจญะห์ ส่วนเวลาของการประกอบพิธีอุมเราะห์คือ ตลอดทั้งปี
2.      ด้านข้อกำหนด ฮัจย์นั้นมีการวุกูฟที่อะรอฟะห์ มีการพักแรมที่มุซดะลีฟะห์ และที่มีนา และมีการขว้างเสาหิน ส่วนอุมเราะห์ไม่มีการกระทำที่กล่าวมานั้นเลยแต่อุมเราะห์มีข้อกำหนดดังนี้คือ ตั้งเจตนา ตอวาฟ โกนหรือตัดผม
เวลาของการบัญญัติฮัจย์และอุมเราะห์ คือ ปีฮิจเราะห์ศักราชที่เก้า

ข้อกำหนดและหลักฐานของฮัจย์และอุมเราะห์
1.      ข้อกำหนดและหลักฐานในเรื่องฮัจย์
ฮัจย์เป็นฟัรดู โดยความเห็นพ้องกันของมวลมุสลิม และเป็นรุกุ่นหนึ่งของอิสลาม หลักฐานจากอัลกุรอ่าน ในซูเราะห์อาลิอิมรอน
إِنَّ أَوَّلَ بَيْتٍ وُضِعَ لِلنَّاسِ لَلَّذِي بِبَكَّةَ مُبَارَكًا وَهُدًى لِّلْعَالَمِينَ ( 96 )
แท้จริงบ้านหลักแรกที่ถูกตั้งขึ้นสำหรับมนุษย์(เพื่อการอิบาดะฮ์) นั้นคือบ้านที่มักกะฮ์ โดยเป็นที่ที่ถูกให้มีความจำเริญ และเป็นที่แนะนำแก่ประชาชาติทั้งหลาย
فِيهِ آيَاتٌ بَيِّنَاتٌ مَّقَامُ إِبْرَاهِيمَ وَمَن دَخَلَهُ كَانَ آمِنًا وَلِلَّهِ عَلَى النَّاسِ حِجُّ الْبَيْتِ مَنِ اسْتَطَاعَ إِلَيْهِ سَبِيلًا وَمَن كَفَرَ فَإِنَّ اللَّهَ غَنِيٌّ عَنِ الْعَالَمِينَ ( 97 )
ในบ้านนั้น มีหลายสัญญาณที่ชัดแจ้ง(ส่วนหนึ่งนั้น)คือมะกอมอิบรอฮีม และผู้ใดได้เข้าไปในบ้านนั้น เขาก็เป็นผู้ปลอดภัยและสิทธิของอัลลอฮ์ที่มีแก่มนุษย์นั้น คือการมุ่งสู่บ้านหลังนั้น อันได้แก่ผู้ที่สามารถหาทางไปยังบ้านหลังนั้นได้และผู้ใดปฏิเสธ แท้จริงอัลลอฮ์นั้นไม่ทรงพึ่งประชาชาติทั้งหลาย

หลักฐานจากซุนนะห์ ท่านรอซูลุลลอฮ์ (ซ.ล.) ได้กล่าวตามรายงานของบุคอรีและมุสลิม จากอบีฮุรอยเราะห์ ว่า
“อิสลามถูกก่อตั้งอยู่บนหลักห้าประการ คือ กล่าวปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าที่ถูกสักการะโดยเที่ยงแท้นอกจากอัลลอฮ์ และมูฮำหมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์, ดำรงละหมาด, จ่ายซากาต, ถือศิลอดในเดือนรอมฎอน และประกอบพิธีฮัจย์สำหรับผู้ที่มีความสามารถเดินทางไปได้”

หลักฐานจากอิจมาอฺ นักปราชญ์มุสลิมมีมติเป็นเสียงเดียวกันว่าฮัจย์เป็นฟัรดู ด้วยเหตุนี้นักปราชญ์จึงตัดสินว่า ผู้ที่ปฏิเสธฮัจย์เป็นผู้สิ้นสภาพจากความเป็นมุสลิม

2.      ข้อกำหนดและหลักฐานในเรื่องอุมเราะห์
อุมเราะห์เป็นฟัรดูเช่นเดียวกับการประกอบพิธีฮัจย์ จากทัศนะของอิหม่ามชาฟีอี และได้อ้างหลักฐานจากอัลกุรอ่านในซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ 196 ที่ว่า
 وَأَتِمُّوا الْحَجَّ وَالْعُمْرَةَ لِلَّهِ  และท่านทั้งหลายจงให้สมบูรณ์ ซึ่งการทำฮัจย์และอุมเราะห์เพื่ออัลลอฮ์...”

เคล็ดลับและประโยชน์ของฮัจย์และอุมเราะห์
1.      การร่วมชุมนุมกันของมุสลิม : รากฐานของอิสลาม อยู่ที่การรวมกัน สามัคคีกัน ระหว่าพี่น้องมุสลิม ด้วยเหตุนี้อัลลลอฮ์จึงได้ให้อิบาดะห์ส่วนใหญ่ที่ถูกบัญญัติขึ้นเป็นสื่อนำไปสู่การพบปะกัน
2.      ฟื้นฟูแก่นแท้ของความเป็นพี่น้องร่วมศาสนาอิสลาม และแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมโดยที่ภาษา และความห่างไกลกันทางด้านภูมิศาสตร์ ไม่ได้เป็นอุปสรรคขวางกั้นเลยแม้แต่น้อย
3.      นำมุสลิมเข้าสู่จุดศูนย์กลางเดียวกัน นั่นคือ มักกะ
4.      ฮัจย์คือการแสดงออกของความเสมอภาค และความเท่าเทียมกันระหว่างมุสลิม
5.      ฮัจย์เป็นสิ่งที่จะทำให้มุสลิมได้รำลึกถึงบรรดานบีและศาสนทูตทั้งหลาย
6.      ฮัจย์เป็นการฝึกฝนให้ร่างกายแข็งแรง สามารถเผชิญกับความลำบาก ตรากตรำได้เป็นอย่างดี
7.      เป็นการฝึกให้เกิดมารยาทในการอยู่ร่วมกัน ให้อภัน และถ่อมตน ฝึกให้มีการเสียสละ ทำทานและสุภาพอ่อนโยน อีกทั้งเป็นการฝึกจิตใจให้สะอาดและยำเกรงต่ออัลลอฮ์

ใครที่จำเป็นต้องทำฮัจย์และอุมเราะห์
ผู้ที่ครบเงื่อนไขต่อไปนี้คือผู้ที่จำเป็นต้องทำฮัจย์และอุมเราะห์
1.      นับถือศาสนาอิสลาม
2.      มีสติปัญญาสมบูรณ์
3.      บรรลุศาสนภาวะ
4.      เป็นเสรีชน (อิสระ ไม่เป็นทาส)
5.      เส้นทางที่จะไปนั้นปลอดภัยตั้งแต่ไปและกลับ
6.      มีความสามารถ ดังที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงตรัสไว้ว่า
وَلِلَّهِ عَلَى النَّاسِ حِجُّ الْبَيْتِ مَنِ اسْتَطَاعَ إِلَيْهِ سَبِيلًا
เป็นสิทธิ์ของอัลลอฮ์ที่จะกำหนดให้มนุษย์ต้องทำฮัจย์ที่บัยตุลลอฮ์ สำหรับผู้ที่มีความสามารถเดินทางไปได้ (อาลิอิมรอน 98)

     ที่จะเรียกว่ามีความสามารถนั้นคือ มีทรัพย์ที่จำเป็นต้องใช้จ่ายในการทำฮัจย์และอุมเราะห์ เช่น ค่าพาหนะและค่ากินอยู่ทั้งไปและกลับ ค่าหนังสือเดินทาง และค่าผู้นำตอวาฟ หรือคือแซะห์ ทรัพย์ที่มีนี้เป็นทรัพย์ที่นอกเหนือจากหนี้สิน และค่าเลี้ยงดูครอบครัวขณะเขาไม่อยู่

สิ่งที่ทำให้ฮัจย์มีผลใช้ได้
1.  ต้องอยู่ในวัยที่แยกแยะได้แล้ว (มุมันยิซ) การทำฮัจย์ของเด็กที่ยังไม่ถึงวัยที่สามารถแยกแยะได้นั้น ถือว่าใช้ไม่ได้
2.  ต้องทำการเอี๊ยะรอมในเวลาที่กำหนดไว้ เวลาที่ศาสนาได้กำหนดไว้เพื่อการทำฮัจย์ได้แก่ เดือนเชาวาล, ซุ้ลเกา
ดะห์, และสิบวันแรกของเดือนซุลฮิจยะห์ ดังนั้นการทำฮัจย์จะใช้ไม่ได้นอกจากต้องกระทำในช่วงดังกล่าวเท่านั้น
3.  ต้องปฏิบัติตามรุกุ้นฮัจย์อย่างครบถ้วน ได้แก่ เอี๊ยะรอม, วุกูฟที่อะรอฟะห์, ตอวาฟอีฟาเดาะห์, สะแอระหว่าง
เนินเขาซอฟากับมัรวะห์, โกนศีรษะหรือตัดผม และเรียงตามลำดับ

เอี๊ยะรอม
เอี๊ยะรอม คือการเปิดฉากประกอบพิธีฮัจย์และเข้าสู่พิธีการฮัจย์ สู่วายิบและรุกุ้นต่างๆของฮัจย์
สถานที่ที่ใช้ในการเอี๊ยะรอม หมายถึงสถานที่ต่างๆที่ศาสนาได้กำหนดไว้ว่า ผู้ตั้งใจทำฮัจย์จะผ่านเลยสถานที่เหล่านั้นไปไม่ได้นอกจากต้องเอี๊ยะรอมเข้าไป นั้นคือ
ก.      ซุ้ลฮุลัยฟะห์ สำหรับผู้ที่เดินทางมาจาก มะดีนะฮ์ ปัจจุบันเรียกว่า อับยารอาลี
ข.      อัลญุห์ฟะห์ สำหรับผู้ที่เดินทางมาจาก ชาม อียิปต์ และมอร็อกโค
ค.      ยะลัมลัม สำหรับผู้ที่เดินทางจากประเทศ ยะมันหรือ เยเมน
ง.       กอรน์ สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากนัจด์ และที่ราบสูงยะมัน
จ.      ซาตุอิรก์ สำหรับผู้ที่เดินทางมาจาก อิรัก
ส่วนบุคคลที่ทำฮัจย์ที่พักอาศัยอยู่ในมักกะหรือต่ำกว่าสถานที่ที่ได้กำหนดไว้แล้วนั้น คือให้เขาเอี๊ยะรอมฮัจย์
จากที่บ้านพักของเขาในมักกะเลยโดยไม่ต้องออกไปเอี๊ยะรอมนอกเมืองมักกะ
          ส่วนผู้ที่ทำอุมเราะห์ที่อยู่ในมักกะหรือเขตแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ไม่ว่าเขาจะเป็นชาวมักกะหรือมาจากที่อื่น เขาจะเป็นจะต้องออกไปนอกเขตแผ่นดินฮารอม แต่ถ้าหากเขาต้องการจะเอี๊ยะรอมในเขตแผ่นดินฮารอมก็ถือว่าใช้ได้ แต่จะต้องเสียค่าปรับ (ดัม)

ข้อห้ามสำหรับผู้ที่ครองเอี๊ยะรอม(ขณะครอง)
1.      สวมใส่อาภรณ์ที่เย็บติกันเป็นทรง และรองเท้าที่หุ้มมิดเท้าก็จัดอยู่ในอาภรณ์เย็บติดที่ต้องห้ามเช่นกัน
2.      ปิดศีรษะ ยกเว้นกรณีจำเป็น เข่นผ้าโพกศีรษะ หมวก เป็นต้น
3.      หวีผมหรือเสยผม ไม่ว่าจะให้อะไรเป็นเครื่องมือก็ตาม
4.      โกนหรือถอนผมหรือขน นอกจากกรณีจำเป็น
5.      ตัดเล็บ แม้จะเป็นแค่เพียงบางส่วนก็ตาม
6.      ใส่ของหอม หรือสบู่
7.      ฆ่าสัตว์บกที่เป็นสัตว์ป่าที่เนื้อของมันรับประทานได้
8.      แต่งงานหรือเกี่ยวข้องกับพิธีแต่งงาน
9.      การร่วมประเวณีทุกรูปแบบ
10.  การสัมผัสอย่างมีอารมณ์ทางเพศ แต่ไม่ถึงขั้นร่วมประเวณี เข่นลูบ จูบ คลำ เป็นต้น

พิธีการฮัจย์และอุมเราะห์
วายิบและรุกุ่นฮัจย์
ข้อแตกต่างระหว่างวายิบฮัจย์และรุกุ่นฮัจย์ คือ ถ้าหากไม่นำวายิบฮัจย์มาปฏิบัติ ฮัจย์ใช้ได้แต่ต้องชดเชยด้วยการเสียค่าปรับ (ดัม)
          ส่วนรุกุ่นฮัจย์นั้น หากไม่ได้นำขอหนึ่งข้อใดมาปฏิบัติ ฮัจย์นั้นจะใช้ไม่ได้ และไม่อาจชดเชยด้วยการเสียค่าปรับได้
วายิบฮัจย์ประกอบด้วย
1.       เอี๊ยะรอมจากสถานที่และในเวลาที่ได้กำหนดไว้แล้ว
2.       การพักแรมคืนที่มุซดะลีฟะห์ จะต้องอยู่ที่นั่นจนถึงเวลาหลังเที่ยงคืน ไม่จำเป็นต้องอยู่จนถึงแสงอรุณขึ้น
3.       ขว้างเสาหิน เมื่อผู้ประกอบพิธีฮัจย์ออกจากอะรอฟะห์แล้วไปพักแรมที่มุซดะลีฟะห์ เขาจะต้องมุ่งไปที่เสาหิน ญัมรอตุลอะกอบะห์  และจะต้องขว้างหินให้ตกลงไปในแอ่งรอบเสาหินเจ็ดก้อน โดยเริ่มขว้างตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันอีด (วันที่ 10)เป็นต้นไป และหมดเวลาเมื่อตะวันตกในวันสุดท้ายของวันตัชรีก (วันที่ 13)
4.       การพักค้างแรมที่มีนา ในคืนตัชรีก ในคืนที่ 1 และคืนที่ 2 ในวันที่ 3 อัลลอฮ์ทรงผ่อนผันให้โดยมีเงื่อนไขว่า เขาต้องออกจากมีนาก่อนตะวันลับขอบฟ้า
5.       ตอวาฟอำลา (วะดาอฺ)  เมื่อตอวาฟแล้วเขาจะหยุดพักอยู่อีกไม่ได้ มิเช่นนั้นเขาจะต้องกลับไปตอวาฟใหม่อีกครั้งหนึ่ง
รุกุ่นฮัจย์  คือองค์ประกอบสำคัญของพิธีฮัจย์ ซึ่งถ้าหากผู้ทำฮัจย์ละเลยไม่กระทำรุกุ่นใดรุกุ่นหนึ่ง ฮัจย์เขาใช้ไม่ได้ ซึ่งประกอบด้วย 5 ประการคือ
1.       เอี๊ยะรอม
2.      วุกูฟที่อะรอฟะห์ ถือเป็นหัวใจของพิธีฮัจย์ หมายถึงการไปปรากฏตัวอยู่ที่อะรอฟะห์ ในช่วงเวลาใดซึ่งเริ่มตั้งแต่เข้าเวลาละหมาดดุฮ์รี ของวันที่ 9 ซุ้ลฮิจญะห์ และสิ้นสุดเมื่อแสงอรุณของวันที่  10 ขึ้น
3.      ตอวาฟอีฟาเดาะห์ (ตอวาฟรุกุ่น) 7 รอบ มีเงื่อนไขเช่นเดียวกับเงื่อนไขของการละหมาด และจำต้องไม่ให้ส่วนใดๆของร่างกายเข้าไปในเขตกะบะห์ เช่น เชิงของกะบะห์ และบริเวณหินโค้ง
4.      สะแอระหว่างเนินเขาซอฟาและมัรวะห์ 7 รอบ โดยนับการเดินจากซอฟาไปมัรวะห์เป็นหนึ่งเที่ยว และจากมัรวะห์มาซอฟานับเป็นอีกหนึ่งเที่ยว
5.      โกนศีรษะหรือตัดผมอย่างน้อย 3 เส้น

พิธีการอุมเราะห์
1.      เอี๊ยะรอมอุมเราะห์ จากสถานที่ที่ได้กำหนดไว้
2.      เข้ามักกะห์  และตอวาฟอุมเราะห์ทันที โดยไม่ต้องตอวาฟกูดุม
3.      สะแอระหว่างเนินเขาซาฟาและมัรวะห์
4.      โกนหรือตัดผม

การประกอบพิธีฮัจย์และอุมเราะห์ มี 3 วิธี
          1 . อิฟรอด คือ การทำฮัจย์ก่อนการทำอุมเราะฮฺ ฮุจญาดผู้ประกอบพิธีฮัจย์แบบฮัจญ์อิฟรอด จะประกอบพิธีฮัจญ์ก่อนทำอุมเราะฮฺ หลังจากเสร็จพิธีฮัจญ์แล้วเขาจะเดินทางออกจากแผ่นดินฮะรอม แล้วเนียตเอียะฮฺ รอมอุมเราะฮฺ แล้วเดินทางเข้ามักกะฮฺ เพื่อประกอบพิธีอุมระฮฺ โดยต้องทำต้องทำภายในปีเดียวกันกับปีที่ประกอบพิธีฮัจญ์ วิธีอิฟรอด เป็นวิธีประกอบฮัจญ์ที่ดีกว่า การประกอบพิธีฮัจญ์วิธีตะมัตตุอ . และวิธีกิรอน โดยไม่ต้องเสียดัม (ตามมัซฮับซาฟีอี)
          2 . ตะมัตตุอฺ คือ การทำอุมเราะฮฺ ในช่วงเวลาฮัจญ์ เมื่อเสร็จการทำอุมเราะฮฺ แล้วฮุจญาดจะทำพิธีฮัจญ์ในปีเดียวกัน การประกอบพิธีฮัจญ์วิธีตะมัตตุอ . จะดีกว่าการประกอบพิธีฮัจญ์วิธีกิรอน แต่ต้องเสียดัม (ค่าปรับต่อการกระทำผิดพลาด หรืออาจจะบกพร่องกรณีใดกรณีหนึ่งตามรูกนฮัจญ์)
          3 . กิรอน คือ การทำฮัจญ์และอุมเราะฮฺ พร้อมกันในช่วงเวลาฮัจญ์ หรือการเนียตทำอุมเราะฮฺ แล้วนำเอาพิธีฮัจญ์เข้ามาก่อนลงมือทำอุมเราะฮฺ แล้วก็ทำพิธีฮัจญ์จนแล้วเสร็จ ทั้ง 2 รูปแบบนี้ผู้ปฏิบัติจะได้ทั้งฮัจญ์ และอุมเราะฮฺ ในคราวเดียวกัน เพราะพิธีฮัจญ์ได้ครอบคลุมถึงพิธี อุมเราะฮฺ อยู่แล้ว แต่ต้องเสียดัม

การจ่ายค่าปรับ (ดัม)ในเรื่องของฮัจย์และสิ่งที่ใช้แทนดัม
1.      ดัมที่ต้องเรียงลำดับ ซึ่งถูกกำหนดไว้แล้ว ได้แก่การจ่ายค่าปรับกรณีที่ละทิ้งวายิบฮัจย์ข้อหนึ่งข้อใดไป จำเป็นต้องเชือดสัตว์เป็นลำดับแรก ถ้าหากไม่สามารถให้ถือศิลอดเป็นเวลา 10 วัน โดย 3 วันในช่วงฮัจย์ และอีก 7 วัน เมื่อกลับมาถึงครอบครัวแล้ว การจ่ายกรณีนี้ครอบคลุมถึงดังเรื่อง ตะมัตตุอ์ และดัมเรื่องไม่ทันวุกูฟที่ต้องตะฮัลลุ้ลเป็นอุมเราะห์ด้วย
2.      ดัมที่ให้เลือกกระทำ ซึ่งถูกกำหนดไว้แล้ว  ได้แก่ กรณีกระทำข้อห้ามขณะเอี๊ยะรอม เช่น โกนศีรษะ หรือทำให้ผมหลุดจากศีรษะไม่ว่าวิธีใดก็ตาม 3 เส้นขึ้นไป และตัดเล็บสามชิ้นขึ้นไป ผู้กระทำจำเป็นต้องเชือดแพะหรือแกะหนึ่งตัว หรือถือศิลอด 3 วัน หรือแจกอาหารจำนวน 3 ซออฺ (ประมาณ 12 ลิตร) แก่คนยากจนในแผ่นดินฮารอมจำนวน 6 คน
3.      ดัมที่ให้เลือกกระทำ ซึ่งถูกเทียบมูลค่า  ได้แก่ กรณีตัดต้นไม้หรือล่าสัตว์ป่า ให้พิจารณาดูว่าถ้าหากสัตว์ดังกล่าวนั้นมีรูปร่างเหมือนสัตว์จำพวกอูฐ แพะ แกะ วัว ควาย เขาจำเป็นต้องเชือดสัตว์ที่มีรูปร่างเหมือนกันในแผ่นดินฮารอม หรือซื้ออาหารเท่ากับราคาของสัตว์ที่เหมือนนั้นแล้วแจกจ่ายแก่คนยากจนในแผ่นดินฮารอม หรือถือศิลอดแทนวันละหนึ่งมุด
4.      ดัมที่ต้องเรียงลำดับ ซึ่งถูกเทียบมูลค่า ได้แก่ กรณีถูกขัดขวางไม่ให้ทำฮัจย์ ภายหลังจากได้ทำการเอี๊ยะรอมแล้วเขจำเป็นต้องเชือดแพะ หรือแกะ 1 ตัว เป็นอันดับแรกในสถานที่ที่เขาถูกขัดขวาง ถ้าหากไม่สามารถก็ ให้จ่ายอาหารเท่ากับราคาของแพะหรือแกะนั้นแก่คนยากจน ถ้าไม่สามารถ ให้ถือศิลอดแทนวันละ 1 มุด
5.      ดัมที่ต้องเรียงลำดับ ซึ่งถูกเทียบมูลค่า  ได้แก่ กรณีร่วมประเวณีก่อนการ ตะฮัลลุ้ลเอาวั้ล จำเป็นต้องเชือดอูฐหนึ่งตัว ถ้าไม่สามารถต้องเชือดวัวหนึ่งตัว และถ้าไม่สามารถต้องเชือดแพะหรือแกะเจ็ดตัว ถ้าหากไม่สามารถต้องแจกจ่ายอาหารแก่คนยากจนในแผ่นดินฮารอมเท่ากับราคาอูฐ และถ้าไม่สามารถอีก ให้ถือศิลอดแทนวันละหนึ่งมุด

لَبَّيْكَ اللَّهُمَّ لَبَّيْكَ ، لَبَّيْكَ لَا شَرِيكَ لَكَ لَبَّيْكَ ، إِنَّ الْحَمْدَ وَالنِّعْمَةَ لَكَ وَالْمُلْكَ ، لَا شَرِيكَ لَك

3 ความคิดเห็น: