เรื่องการถือศิลอด

การถือศิลอดในเดือนรอมฎอน
(الصِّيَامُ)
คำนิยาม :
อัซซิยาม : ตามหลักภาษา : หมายถึง การอดกลั้น ไม่ว่าจะเป็นการอดกลั้นคำพูด หรือการอดกลั้นอาหาร 
อัซซิยาม : ตามหลักศาสนา หมายถึง การอดกลั้นไม่กระทำการใดๆ ที่จะทำให้เสียการถือศิลอดตั้งแต่แสงอรุณขึ้นจนตะวันลับขอบฟ้า พร้อมด้วยเนียต
ประวัติการบัญญัติให้ถือศิลอด
          การถือศิลอดในเดือนรอมาดอน ถูกบัญญัติให้เป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ ในเดือนชะอฺบาน ปีฮิจเราะห์ที่สอง ก่อนหน้านั้นการถือศิลอดได้เป็นสิ่งที่รู้กันในประชาชาติยุคก่อนๆ เป็นอย่างดีอยู่แล้ว และในหมู่ชาวคัมภีร์ที่อยู่ในสมัยเดียวกับท่านรอซูลุ้ลเลาะห์ ( ซ.ล ) อัลเลาะห์ ตาอาลา ทรงตรัสว่า 

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ
           ผู้มีศรัทธาทั้งหลายเอ๋ย การถือศิลอดได้ถูกกำหนดเป็นหน้าที่เหนือพวกเจ้า เช่นเดียวกับที่ได้กำหนดเหนือบุคคลในยุคก่อนพวกเจ้ามาแล้ว แน่นอนพวกเจ้าจะมีคุณธรรม ? ( อัลบากอเราะห์ 183 ) 
            แต่การกำหนดให้ถือศิลอดในเดือนรอมาดอนนั้น ยังไม่เคยถูกบัญญัติมาก่อนเลย ประชากรของท่าน นบีมุฮำหมัด ( ซ.ล ) กับประชากรในยุคก่อนๆมีส่วนร่วมกันในการถือศิลอดเท่านั้น แต่การกำหนดให้ถือศิลอดในเดือนรอมาดอนโดยเฉพาะนั้น เกิดแก่ประชากรของท่านนบีมุฮำหมัด ( ซ.ล ) เพียงประชาชาติเดียว

หลักฐานในการบัญญัติให้ถือศิลอดเดือนรอมาดอน 
           หลักฐานในการบัญญัติให้การถือศิลอดในรอมาดอนเป็นหน้าที่จำเป็น ( ฟัรดู ) ได้แก่คำดำรัสของอัลเลาะห์ ตาอาลา ที่ว่า :
شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِي أُنزِلَ فِيهِ الْقُرْآنُ هُدًى لِّلنَّاسِ وَبَيِّنَاتٍ مِّنَ الْهُدَىٰ وَالْفُرْقَانِ فَمَن شَهِدَ مِنكُمُ الشَّهْرَ فَلْيَصُمْهُ
          เดือนรอมาดอน เป็นเดือนที่กรุอานถูกประทานลงมาเป็นทางนำแก่มวลมนุษย์ เป็นคำแจกแจง ที่มาจากแนวทางถูกต้องและแยกสัจจธรรม ออกจากความมดเท็จ ดังนั้นคนใดในหมู่พวกท่านที่ปรากฏตัวอยู่(ไม่ได้เดินทาง ) ในเดือนนี้ให้เขาจงถือศิลอดเถิด ? ( อัลบากอเราะห์ 185 ) 
      และได้แก่คำดำรัสของท่านนบี ( ซ.ล ) ที่ว่า :
           อิสลามถูกตั้งอยู่บนหลักห้าประการ ได้แก่ปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าที่ถูกสักการะโดยเที่ยงแท้ นอกจากอัลเลาะห์เท่านั้น และว่ามูฮำหมัดเป็นศาสนทูตของอัลเลาะห์ ดำรงละหมาด จ่ายซะก๊าต ประกอบพิธีฮัจย์ และถือศิลอดในเดือนรอมาดอน ? รายงานโดย บุคอรี ( 8 ) มุสลิม ( 6 ) และท่านอื่นๆ

ข้อกำหนดของผู้ที่ไม่ถือศิลอดในเดือนรอมาดอนโดยไม่มีเหตุจำเป็นใดๆ
           เมื่อการถือศิลอดเดือนรอมาดอน เป็นเสาหลักสำคัญประการหนึ่งของอิสลาม และเป็นหน้าที่จำเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป ผู้ปฏิเสธการถือศิลอดว่าไม่ใช่เป็นหน้าที่ ( ฟัรดู ) ที่ต้องปฏิบัติ ผู้นั้นสิ้นสภาพการเป็นมุสลิม หมายความว่าให้ปฏิบัติต่อเขาในฐานะเป็นมุรตัด ให้เรียกตัวมาเพื่อทบทวนให้สำนึกผิด ( เตาบัต ) ถ้าหากเขาสำนึกผิดให้ยอมรับการสำนึกผิดของเขา และถ้าเขาไม่สำนึกผิด ก็จะถูกลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต ทั้งนี้มีข้อแม้ว่าเขาไม่ใช่เป็นผู้ที่เพิ่งเข้ารับอิสลามใหม่ๆ หรือเขาอยู่ห่างไกลผู้รู้ ส่วนผู้ที่ๆไม่ถือศิลอดโดยไม่มีความจำเป็นใดๆ แต่เขาไม่ได้ปฏิเสธการถือศิลอดว่าไม่ใช่เป็นหน้าที่ ( ฟัรดู ) ที่เขาต้องปฏิบัติ เช่นเขาพูดว่า การถือศิลอดเป็นหน้าที่ของฉัน แต่ฉันไม่ปฏิบัติ ดังนี้ถือว่าเขาเป็นคนละเมิด เป็นคนชั่ว ไม่ถึงขั้นการสิ้นสภาพการเป็นมุสลิม และถือเป็นหน้าที่ของผู้นำมุสลิมจะต้องคุมขังเขา และให้เขางดอาหารและเครื่องดื่มในเวลากลางวันเพื่อให้เขาได้ถือศิลอด แม้เป็นเพียงรูปภายนอกก็ตาม 

เคล็ดลับ ( ฮิกมะห์ ) และคุณประโยชน์บางประการของการถือศิลอด
          มุสลิมทุกคนต้องทราบก่อนว่า การถือศิลอดเดือนรอมาดอนเป็นอิบาดะห์ที่อัลเลาะห์กำหนดให้เป็นหน้าที่ต้องปฏิบัติ ความหมายที่ว่าเป็นอิบาดะห์ ก็คือมุสลิมจะต้องน้อมรับมาปฏิบัติด้วยความเต็มใจในฐานะเป็นบ่าวของอัลเลาะห์ โดยไม่ต้องมองไปที่ผลลัพธ์ของการถือศิลอดว่าจะให้ผลแก่เขาเป็นประการใดเมื่อได้ปฏิบัติเช่นนี้แล้ว ก็ไม่ขัดข้องที่จะมองดู และพิจารณาเคล็ดลับต่างๆของพระเจ้าที่แฝงไว้กับการถือศิลอด และอิบาดะห์อื่นๆ ไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่าข้อกำหนดต่างๆ ของอัลเลาะห์ทั้งหมดนั้นมีเคล็ดลับแฝงอยู่และเป็นคุณประโยชน์แก่บ่าวของพระองค์ แต่ไม่บังคับให้บ่าวของพระองค์ต้องรับรู้คุณประโยชน์และเคล็ดลับเหล่านั้น 
          เป็นที่แน่นอนว่าในการถือศิลอดนั้น ย่อมมีคุณประโยชน์และเคล็ดลับแฝงอยู่มากมาย ซึ่งบางส่วนก็ได้รับการเปิดเผยแล้ว แต่คงเหลืออีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผย และส่วนหนึ่งที่ได้รับการเปิดเผยแล้วก็คือ :
      1. การถือศิลอดที่ปฏิบัติถูกต้อง จะปลุกและเร่งเร้าจิตใจของมุสลิมให้เกิดสำนึกขึ้นว่าตนเองถูกควบคุม และติดตามดูพฤติการณ์จากอัลเลาะห์ ตาอาลา
      2. เดือนรอมาดอนเป็นเดือนศักศิทธิ์และสำคัญยิ่ง ที่อัลเลาะห์ให้บ่าวของพระองค์บรรจุความดีและกุศลต่างๆ ให้เต็มทั้งเดือน การถือศิลอดในเดือนนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะทำให้ภารกิจและหน้าที่ของความเป็นบ่าวสมบูรณ์ 
      3.  การถือศิลอดจะช่วยขัดเกลาและขำระนิสัยที่หยาบกร้านตลอดจนความเห็นแก่ตัวให้นุ่มนวลและลดน้อยลง 
      4 . หลักสำคัญที่ทำให้สังคมมุสลิมเจริญรุ่งเรืองก็คือการที่มุสลิมมีความเอื้ออาทรและเมตตาสงสารซึ่งกันและกัน การถือศิลอดในเดือนรอมาดอน จะเป็นตัวกระตุ้นและเร่งเร้าคนรวยให้มีความเมตตาและสงสารคนยากจนได้ดีที่สุด

การเข้าสู่เดือนรอมาดอน
       จะเข้าสู่เดือนรอมาดอน ด้วยประการหนึ่งจากสองประการดังต่อไปนี้ :
       หนึ่ง : เห็นหิลาล ( ดวงจันทร์เสี้ยว ) ในเวลากลางคืนของวันที่สามสิบ ( หมายถึงวันที่ยี่สิบเก้าค่ำลง ) ของเดือนชะบาน ทั้งนี้โดยมีพยานที่มีคุณธรรมหนึ่งคนมายืนยันต่อหน้ากอดี ว่าตนได้เห็นดวงจันทร์เสี้ยวแล้ว 
       สอง : ครบเดือนชะบานสามสิบวัน ในกรณีที่เห็นดวงจันทร์เสี้ยวได้ลำบากเพราะมีเมฆบดบังหรือไม่มีพยานทีมีคุณธรรมมาให้การยืนยันว่าตนได้เห็นเดือนเสี้ยวแล้ว ดังนั้นให้ปล่อยเดือนชะบานไปจนครบสามสิบวัน เพราะถือว่าเป็นต้นเดิมเมื่อไม่มีอะไรมาโต้แย้งเป็นอย่างอื่น 

       คนหนึ่งออกเดินทางจากเมืองที่กำลังเป็นอีด ไปยังเมืองหนึ่งอยู่ห่างไกลและชาวเมืองกำลังถือศิลอดกัน เขาจำเป็นต้องอดอาหาร ( อิมซาก ) ตลอดวันนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับชาวเมืองนั้น

เงื่อนไขที่ทำให้จำเป็นต้องถือศิลอด 
       ผู้ที่ครบเงื่อนไขดังต่อไปนี้ คือผู้ที่จำเป็นต้องถือศิลอดเดือนรอมาดอน 
       1.  อิสลาม 
       2.  อยู่ในเกณฑ์บังคับขอศาสนา 
       3.  ไม่มีอุปสรรคขัดขวางการถือศิลอด หรือไม่มีอุปสรรคที่ทำให้อนุญาตละศิลอด 
       สำหรับอุปสรรคที่ขัดขวางการถือศิลอดได้แก่ :
       ก . มีเลือดประจำเดือน ( ฮัยด์ ) หรือ น้ำคาวปลาหลังการคลอดบุตร ( นิฟาส ) ในช่วงใดช่วงหนึ่ง ของเวลากลางวัน 
       ข . เป็นลม สลบ หรือเป็นบ้าตลอดทั้งวัน ถ้าหากหายจากอาการดังกล่าว แม้เพียงครู่เดียวในเวลากลางวัน ถือว่าอุปสรรคดังกล่าวหายไป เขาจำเป็นต้องอดอาหาร ( อิมซาก ) ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของวันนั้น

อุปสรรคที่ทำให้อนุญาตละศิลอดได้แก่ :
       1.  อาการป่วยที่จะทำให้เกิดอันตรายอย่างยิ่ง หรือเจ็บปวด หรือ ทรมานอย่างยิ่ง สำหรับอาการป่วย หรือ อาการเจ็บปวด ที่ทวีความรุนแรงขึ้นถึงขั้นกลัวว่าจะเสียชีวิต จำเป็นต้องละศิลอดทันที 
       2.  การเดินทางไกลซึ่งที่มีระยะทางไม่น้อยกว่า 83 กิโลเมตร โดยมีเงื่อนไขว่าเป็นการเดินทางที่ศาสนาอนุญาต และการเดินทางนั้นใช้เวลาทั้งวัน 
       ถ้าหากตอนเช้าเขาถือศิลอดอยู่กับบ้าน แล้วออกเดินทางในตอนกลางวัน ก็ไม่ยินยอมให้เขาละศิลอด 
       หลักฐานในข้ออุปสรรคสองประการนี้ : ได้แก่คำดำรัสของอัลเลาะห์ ตาอาลา ที่ว่า :

وَمَن كَانَ مَرِيضًا أَوْ عَلَىٰ سَفَرٍ فَعِدَّةٌ مِّنْ أَيَّامٍ أُخَرَ
    "ผู้ใดป่วยหรืออยู่ในการเดินทาง ให้เขาชดใช้การถือศิลอดในวันอื่น" ( อัลบากอเราะห์ 185 ) 
         3.  ไม่สามารถถือศิลอดได้ ผู้ที่ไม่สามารถทำการถือศิลอดได้ เพราะชราภาพ หรือป่วยเรื้อรัง หมดหวังที่จะหาย ไม่จำเป็นต้องถือศิลอด เพราะการถือศิลอดบังคับกับผู้ที่มีความสามารถเท่านั้น 
       หลักฐานในเรื่องนี้ : ได้แก่คำดำรัสของอัลเลาะห์ ตาอาลา ที่ว่า :
وَعَلَى الَّذِينَ يُطِيقُونَهُ فِدْيَةٌ طَعَامُ مِسْكِينٍ

 "เหนือผู้ที่ไม่สามารถทำการถือศิลอดได้ จะต้องเสียค่าปรับเป็นอาหารมอบแก่คนยากจน" ( อัลบากอเราะห์ 184 )
รุกุ่น ( องค์ประกอบสำคัญ ) ของการถือศิลอด
       การถือศิลอดจะเกิดขึ้นได้ต้องมีองค์ประกอบสำคัญสองประการ คือ :
          หนึ่ง - ตั้งเจตนา ( เนียต ) :
           ถ้าหากเป็นการตั้งเจตนาเพื่อการถือศิลอดในเดือนรอมาดอน จำต้องประกอบด้วยสิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ 
       1.  ต้องตั้งเจตนาในเวลากลางคืน
       2.  ต้องระบุเจาะจงให้แน่ชัด :เช่นกล่าวว่า ข้าพเจ้าตั้งใจถือศิลอดในวันพรุ่งนี้เป็นฟัรดูเดือนรอมาดอน 
       3.  ต้องตั้งเจตนาซ้ำ : หมายความว่าต้องมีการตั้งเจตนา ( เนียต ) ถือศิลอดทุกคืนก่อนแสงอรุณขึ้น สำหรับการถือศิลอดในวันถัดไป การตั้งเจตนาเพียงครั้งเดียว จะใช้กับการถือศิลอดตลอดทั้งเดือนไม่ได้ เพราะการถือศิลอดเดือนรอมาดอนไม่ใช่เป็นอีบาดะห์เดียว แต่เป็นหลายอีบาดะห์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ตลอดเดือน ซึ่งแต่ละอีบาดะห์ ต้องมีเจตนาที่เป็นอิสระต่อกัน 
        ส่วนการถือศิลอดที่เป็นสุนัตนั้น ไม่ได้มีเงื่อนไขว่าต้องตั้งเจตนา ( เนียต ) ในเวลากลางคืน และไม่มีเงื่อนไขว่าต้องระบุเจาะจง ดังนั้นการตั้งเจตนาก่อนตะวันคล้อยโดยที่เขายังไม่ได้กระทำการใดๆที่ทำให้เสียศิลอดเลยตั้งแต่แสงอรุณขึ้น หรือตั้งเจตนาถือศิลอดเฉยๆ สำหรับการถือศิลอดที่เป็นสุนัต ถือว่ามีผลใช้ได้แล้ว 

สอง : อดกลั้นไม่กระทำสิ่งที่จะทำให้เสียการถือศิลอด :
       สิ่งที่ทำให้เสียการถือศิลอดมีหลายประการ 
1.  การกิน การดื่ม : โดยเจตนา 
2.  มีวัตถุเข้าไปถึงภายในจากทางทวารที่เปิด :
           คำที่ว่า วัตถุ หมายถึงสิ่งที่มองเห็นด้วยตา คำที่ว่าภายใน หมายถึง โพลงสมอง หรือลึกลงไปเกินลูกกระเดือกถึงกระเพาะและลำไส้ 
       คำที่ว่าทวารที่เปิด ได้แก่ ปาก รุหู รูทวารหน้า และทวารหลัง ทั้งผู้หญิง และผู้ชาย 
       การหยอดหู ทำให้เสียการถือศิลอด เพราะหูเป็นทวารที่เปิด 
       การหยอดตา ไม่ทำให้เสียการถือศิลอด เพราะตาไม่ใช่ทวารเปิด 
       การสวนทวารหนัก ทำให้เสียการถือศิลอด เพราะรูทวารเปิด 
       การฉีดยาเข้าเส้น ไม่ทำให้เสียการถือศิลอด เพราะเส้นไม่ใช่ทวารเปิด 
       การกลืนน้ำลายตนเอง ก็ไม่ทำให้เสียการถือศิลอด 
       ถ้าหากบ้วนปากหรือสูดน้ำเข้าจมูกขณะอาบน้ำละหมาด น้ำที่บ้วนปากหรือที่ใช้สูดเข้าจมูกนั้นพลาดเข้าไปข้างใน ไม่ทำให้เสียการถือศิลอดถ้าหากเขาไม่ได้ทำให้น้ำเข้าปากหรือจมูกลึกเกินไปขณะบ้วนปากหรือสูดเข้าจมูก แต่ถ้าหากเขาปล่อยให้น้ำเข้าลึกเกินไปก็ทำให้เสียการถือศิลอด เพราะเขาได้กระทำสิ่งที่เป็นข้อห้ามไม่ให้กระทำขณะถือศิลอด 
       ถ้าหากมีเศษอาหารติดอยู่ตามซอกฟัน และมันได้หลุดติดไปกับน้ำลายลงไปภายในโดยไม่ได้มีเจตนา ให้พิจารณาดังนี้ ถ้าเขาไม่สามารถแยกอาหารออกจากน้ำลาย และบ้วนอาหารทิ้งไปได้ ก็ไม่เสียการถือศิลอด เพราะสุดวิสัย และไม่เป็นผู้ประมาท และถ้าหากเขาสามารถแยกได้แต่ไม่ยอมแยกก็ถือว่า เสียการถือศิลอด เพราะเขาบกพร่องและประมาท 
       ถ้าหากถูกบังคับ ให้กินและดื่มก็ไม่เสียการถือศิลอดอีกเช่นเดียวกัน เพราะกระทำไปโดยไม่สมัครใจ
3.  จงใจทำให้อาเจียน :
4.  ร่วมประเวณีโดยเจตนา : แม้ไม่ถึงขั้นหลั่งอสุจิก็ตาม ดั่งพระดำรัสของอัลเลาะห์ ตาอาลาที่ว่า :
وَكُلُوا وَاشْرَبُوا حَتَّىٰ يَتَبَيَّنَ لَكُمُ الْخَيْطُ الْأَبْيَضُ مِنَ الْخَيْطِ الْأَسْوَدِ مِنَ الْفَجْرِ ثُمَّ أَتِمُّوا الصِّيَامَ إِلَى اللَّيْلِ وَلَا تُبَاشِرُوهُنَّ وَأَنتُمْ عَاكِفُونَ فِي الْمَسَاجِدِ
       "ท่านทั้งหลายจงกินและจงดื่ม จนกว่าเส้นด้ายสีขาว จากเส้นด้ายสีดำ ของแสงอรุณจะปรากฏแก่พวกท่านจากนั้นให้พวกท่านจงถือศิลอดให้ครบถึงกลางคืนเถิด และท่านทั้งหลายอย่าสัมผัสพวกนาง ขณะพวกท่านเอียะตีกาฟอยู่ในมัสยิด" ( อัลบากอเราะห์ 187 ) 
       ถ้าหากได้ร่วมประเวณีโดยลืมว่าตนถือศิลอด ไม่ทำให้เสียการถือศิลอด โดยเทียบเคียง ( กียาส ) กับการกินและการดื่มโดยลืม 
5.  กระทำให้อสุจิหลั่ง :
       การจูบภรรยาขณะถือศิลอดในเดือนรอมาดอนถือเป็น มักรูห์ตะห์รีม สำหรับบุคคลที่การจูบของเขาทำให้เกิดความกำหนัด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงก็ตาม เพราะการกระทำดังกล่าว ถือเป็นการล่อแหลมที่จะเสียศิลอดได้ 
       สำหรับการจูบไม่ก่อให้เกิดกำหนัด ที่ดียิ่งสำหรับเขาคือการไม่จูบเพื่อเป็นการปิดประตูที่จะนำไปสู่การเสียศิลอด 
6.  มีเลือดประจำเดือนหรือนิฟาส : และจำเป็นจะต้องชดใช้ภายหลังตามวันที่ขาด
7.  ป็นบ้าและสิ้นสภาพการเป็นอิสลาม 
             ดังกล่าวมานี้ ผู้ที่ถือศิลอดจะต้องอดกลั้นไม่กระทำสิ่งที่ทำให้เสียการถือศิลอดต่างๆ เพื่อให้การถือศิลอดของตนมีผลใช้ได้ เริ่มตั้งแต่แสงอรุณขึ้น จนตะวันลับขอบฟ้า ถ้าหากผู้ถือศิลอดกระทำสิ่งที่ทำให้เสียการถือศิลอด โดยเชื่อว่าแสงอรุณยังไม่ขึ้น แต่ปรากฏว่าความเชื่อของเขาไม่ตรงความจริงการถือศิลอดของเขาใช่ไม่ได้ และเขาจะต้องอดอาหารตลอดวันนั้น เพื่อให้เกียรติแก่รอมาดอน และจะต้องชดใช้ในภายหลังด้วย 
       และเช่นเดียวกับกรณีดังกล่าว ถ้าหากเขาละศิลอดในตอนค่ำโดยเชื่อว่าตะวันลับขอบฟ้าแล้ว แต่ปรากฏว่าตะวันยังไม่ลับขอบฟ้า การถือศิลอดของเขาใช้ไม่ได้และจำเป็นต้องชดใช้ในภายหลัง

ระเบียบของการถือศิลอดและสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติขณะถือศิลอด
       สำหรับการถือศิลอดมีระเบียบหลายประการพอสรุปได้ดังต่อไปนี้ :
       1.  รีบละศิลอด : คือรีบละศิลอดทันทีภายหลังตะวันลับขอบฟ้า หลักฐานในเรื่องนี้ คือฮาดิษ บุคอรี ( 1856 ) และมุสลิม ( 1098 ) ที่รายงานจาก สะหัล    บุตร สะอัด ( ร.ด ) ว่าท่านรอซูลุ้ลเลาะห์ ( ซ.ล ) กล่าวว่า
عَنْ سَهْلِ بْنِ سَعْدٍ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ أَنَّ رَسُولَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ : «لاَ يَزَالُ النَّاسُ بِخَيْرٍ مَا عَجَّلُوا الْفِطْرَ». (البخاري رقم 1821، مسلم رقم 1838)
       "มนุษย์จะยังคงอยู่ในความดี ตราบที่พวกเขารีบละศิลอดและที่ดีนั้นควรละศิลอดด้วยอินทผาลัมสด หรือแห้ง ถ้าหากไม่มีให้ละศิลอดด้วยน้ำ"
       2.  รับประทานอาหารดึก ( สะฮูร ) : คือการรับประทานอาหารภายหลังเที่ยงคืนไปแล้ว หลักฐานในเรื่องนี้ได้แก่ ฮาดิษ บุคอรี ( 1823 ) และมุสลิม ( 1095 ) ได้รายงานจากท่านนบี ( ซ.ล ) ว่าท่านได้กล่าวว่า :
تَسَحَّرُوا فَإِنَّ فِي السُّحُورِ بَرَكَةً     
       "ท่านทั้งหลายจงรับประทานอาหารดึก เพราะในอาหารดึกนั้นมีความเพิ่มพูน" 

       ส่วนเคล็ดลับที่สุนัตให้รับประทานอาหารดึกนั้น เพื่อให้แข็งแรงสามารถถือศิลอดในวันรุ่งขึ้นได้ 
       3.  ควรรับประทานอาหารดึกในเวลาใกล้รุ่ง : โดยกะเวลาให้การรับประทานและดื่มน้ำเสร็จก่อนแสงอรุณขึ้นเล็กน้อย 
       และบุคอรี ( 556 ) ได้รายงานจากอะนัส ( ร.ด ) ว่าท่านนบี ( ซ.ล ) และ เซต บุตร ซาบิต ได้รับประทานอาหารดึก เมื่อทั้งสองรับประทานอาหารดึกเสร็จ ท่านนบี ( ซ . ล ) ได้ลุกขึ้นและไปละหมาดพวกเราถามอะนัสว่า ช่วงเวลาระหว่างที่ทั้งสองเสร็จจากการรับประทานอาหารดึกและเขาทั้งสองเข้าไปละหมาดห่างกันเท่าใด ? เขาตอบว่า เท่ากับช่วงที่คนหนึ่งอ่านกรุอ่านได้สิบห้าอายะห์
        4.  ควรต้องสงวนถ้อยคำ :
       ที่จริงแล้วการด่าทอ การโกหก การนินทา และการยุแหย่นั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องห้าม ( ฮะรอม ) อยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว แต่ที่นำมาเกี่ยวข้องกับผู้ที่ถือศิลอด ก็เพราะนอกจากเป็นบาป แล้ว มันยังทำลายผลบุญของการถือศิลอดอีกด้วย แม้ว่าการถือศิลอดจะมีผลใช้ได้และพ้นการบังคับ ของศาสนาก็ตาม ทั้งนี้เพราะสิ่งที่กล่าวมานี้จัดอยู่ในระเบียบของการถือศิลอด ที่ผู้ถือศิลอดต้องดำเนินตาม 

       5.  ควรอาบน้ำยกฮะดัษใหญ่ ( ญูนุบ ) ก่อนแสงอรุณขึ้น :

      เพื่อให้ร่างกายสะอาดก่อนที่จะเริ่มต้นถือศิลอด ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า การมีญูนุบ จะทำการถือศิลอดไม่ได้ แต่ที่ดีนั้นควรอาบน้ำยกฮาดัษ ญูนุบ ก่อนแสงอรุณขึ้น

       6.  ควรระยับการกรอกเลือด การเจาะเส้นเลือด และการกระทำคล้ายกับสองอย่างนี้ :

       เพราะจะทำให้ร่างกายของผู้ถือศิลอดอ่อนเพลีย และผู้ถือศิลอดไม่ควรซิมอาหารและใช้ลิ้นแตะอาหาร เพราะกลัวว่าจะมีสิ่งใดหลุดเข้าไปถึงเขตภายใน ซึ่งจะทำให้เสียการถือศิลอด

       7.  ควรกล่าวขณะละศิลอดว่า :
                                                ذَهَبَ الظَّمَأُ ، وَابْتَلَّتِ الْعُرُوْقُ ، وَثَبَتَ الْأَجْرُ إِنْ شَاءَ اللهُ تَعَالىَ                                 


        ข้าแด่อัลเลาะห์เจ้า ข้าพเจ้าถือศิลอดเพื่อพระองค์ท่าน ข้าพเจ้าละศิลอดด้วยปัจจัยยังชีพ ( ริสกี ) ของพระองค์ท่าน ความกระหายมลายไป เส้นเลือดชุ่มน้ำ ผลบุญปรากฏหากอัลเลาะห์ประสงค์  
       8.  ควรเลี้ยงอาหารละศิลอดแก่ผู้ถือศิลอด :
       โดยการเลี้ยงอาหาร และถ้าหากไม่สามารถเลี้ยงอาหารได้ ก็ให้อินทผาลัม หรือน้ำดื่มในการละ       ศิลอด ท่านรอซูลุ้ลเลาะห์ ( ซ.ล ) กล่าวว่า :
                          «مَنْ فَطَّرَ صَائِمًا كَانَ لَهُ مِثْلُ أَجْرِهِ غَيْرَ أَنَّهُ لاَ يَنْقُصُ مِنْ أَجْرِ الصَّائِمِ شَيْئًا»                            
        ผู้ใดเลี้ยงอาหารละศิลอดแก่ผู้ถือศิลอด เขาจะได้รับผลบุญเท่ากับผู้ถือศิลอด โดยไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเลย  
       9.  ทำทานให้มาก อ่านและทบทวนอัลกรุอ่าน เอี๊ยะตีกาฟในมัสยิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสิบวันสุดท้ายของรอมาดอน :

                       การชดใช้การถือศิลอดเดือนรอมาดอน ฟิดยะห์ และกัฟฟาเราะห์

       1.   คนเดินทางและคนป่วย :

       ผู้ใดที่ขาดการถือศิลอดในเดือนรอมาดอน เพราะสาเหตุเดินทางหรือป่วย เขาจำเป็นต้องชดใช้ การถือศิลอดวันที่ขาดนั้นก่อนถึงรอมาดอนของปีถัดไป ถ้าหากเขาไม่ชดใช้โดยมีเหตุจำเป็น จนถึงรอมาดอนปีถัดไปเขาก็มีบาป และจำเป็นต้องชดใช้พร้อมจ่าย ฟิดยะห์ คือต้องจ่ายอาหารที่ใช้บริโภคเป็นส่วนมากในเมืองนั้นเป็นค่าปรับวันละหนึ่งมุดให้แก่คนยากจน และยิ่งจำนวนปีผ่านไปโดยที่เขายังไม่ได้ชดใช้การถือศิลอด จำนวนค่าปรับก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น อาหารจำนวนหนึ่งมุด มีปริมาณเท่ากับการใช้มือของคนรูปร่างปานกลางสองข้าง กอบขึ้นมาครั้งหนึ่งเต็มๆ หรือมีน้ำหนักประมาณ 600 กรัม 

       สำหรับผู้ที่มีอุปสรรคเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นมีอาการป่วยเรื้อรังจนถึงรอมาดอนของปีถัดไป เขาจำเป็นต้องชดใช้เมื่อหายเป็นปกติแล้ว ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าปรับในเรื่องชดใช้แต่อย่างใด 

       ถ้าหากเขาเสียชีวิตไปโดยยังไม่ได้ชดใช้การถือศิลอดที่ขาด ซึ่งในเรื่องนี้มีสองกรณีคือ 

       1 .บางทีเขาเสียชีวิตไปก่อนที่จะมีความสามารถชดใช้การถือศิลอดได้ ถือว่าไม่มีบาป

       2. หรือเสียชีวิตไปภายหลังจากมีความสามารถจะชดใช้ได้แล้ว แต่เขาละเลยยังไม่ชดใช้ ถือว่าเป็นบาปสุนัตให้วะลีถือศิลอดแทน

       บุคคลที่ไม่ได้เป็นญาติของผู้ตายจะถือศิลอดแทนผู้ตายไม่ได้ เว้นแต่เมื่อได้ขออนุญาตถือศิลอด

       3 .  คนชรา คนไร้ความสามารถ และผู้ป่วยที่ไม่มีความหวังว่าจะหาย :
       เมื่อคนชราสูงอายุมีความจำเป็นต้องละศิลอด เขาจำเป็นต้องจ่ายอาหารเป็นทานวันละหนึ่งมุดจากอาหารที่คนส่วนใหญ่ใช้รับประทาน หลังจากนั้นทั้งตัวเขาและญาตของเขาไม่จำเป็นต้องกระทำใดๆอีก 

                                               وَعَلَى الَّذِينَ يُطِيقُونَهُ فِدْيَةٌ طَعَامُ مِسْكِينٍ

     และเหนือผู้ที่ ( ไม่ ) มีความสามารถถือศิลอด จ่ายฟิดยะห์ เป็นอาหารแก่คนยากจน ( อัลบากอเราะห์ 184 )
       4หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่ให้นมทารก :
             ถ้าหากนางกลัวจะเกิดอันตรายกับตนเอง ก็จำเป็นต้องชดใช้การถือศิลอดที่ขาดเท่านั้นก่อนที่รอมาดอนหน้าจะมาถึง 

            และถ้าหากนางละศิลอดเพราะกลัวจะเป็นอันตรายต่อทารก โดยนางกลัวว่าจะแท้งถ้าหากถือศิลอด หรือกลัวว่าจะมีน้ำนมน้อยไม่พอเลี้ยงทารก นางจำเป็นต้องชดใช้การถือศิลอดในวันที่นางละศิลอดและจำเป็นต้องจ่ายอาหารที่คนส่วนใหญ่ใช้รับประทานอีกวันละหนึ่งมุด เป็นทาน 



กัฟฟาเราะห์ในรอมาดอน

       เหตุที่ทำให้จำเป็นต้องจ่ายกัฟฟาเราะห์ :

     คือการทำให้การถือศิลอดในรอมาดอนด้วยการร่วมประเวณี โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ร่วมประเวณีรู้ตัวว่ากำลังถือ
ศิลอด และรู้ว่าการร่วมประเวณีขณะถือศิลอด เป็นสิ่งต้องห้าม ( หะรอม ) และไม่ใช่เป็นผู้ได้รับการการผ่อนผันให้ละศิลอดด้วยการเดินทาง 

       ดังนั้นถ้าหากผู้ที่ร่วมประเวณีขณะถือศิลอด กระทำไปโดยลืมว่ากำลังถือศิลอด หรือไม่รู้ว่าการร่วมประเวณีขณะถือศิลอดเป็นสิ่งต้องห้าม หรือร่วมประเวณีขณะถือศิลอดอื่นที่ไม่ใช่ในเดือนรอมาดอน หรือจงใจทำให้เสียศิลอดด้วยอย่างอื่นที่ไม่ใช่การร่วมประเวณี หรือเป็นผู้เดินทางไกลที่ได้รับการผ่อนผันให้ละศิลอด และเขาได้ร่วมประเวณี ทุกกรณีที่กล่าวมานั้นไม่ต้องจ่ายกัฟฟาเราะห์ แต่เขาจำเป็นต้องถือศิลอดชดใช้ 

       สามีที่ร่วมประเวณีขณะถือศิลอดรอมาดอน เป็นผู้จำเป็นต้องจ่ายกัฟฟาเราะห์แต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ส่วนภรรยาหรือหญิงที่ถูกร่วมประเวณีด้วยนั้น ไม่จำเป็นต้องจ่ายกัฟฟาเราะห์แต่อย่างใดแม้จะถือศิลอดด้วยก็ตาม 
       กัฟฟาเราะห์คืออะไร :
       สำหรับกัฟฟาเราะห์ในกรณีที่ทำให้เสียการถือศิลอดรอมาดอน ด้วยการร่วมประเวณีนั้นคือ ต้องปล่อยทาสทีมีศรัทธาจะเป็นหญิงหรือชายก็ได้จำนวนหนึ่งคน ถ้าหากไม่มีทาส หรือเขาไม่สามารถจัดหาทาสมาได้ ให้เขาถือศิลอดสองเดือนติดต่อกันไป ถ้าหากเขาไม่มีความสามารถถือศิลอดสองเดือนได้ ให้เขาจ่ายอาหารแก่คนยากจนหกสิบคน คนละหนึ่งมุด เป็นอาหารที่คนส่วนใหญ่ในเมืองนั้นใช้รับประทาน และถ้าหากไม่มีความสามารถกระทำทุกอย่างที่กล่าวมา กัฟฟาเราะห์ก็จะติดตัวเขาตลอดไปจนกว่าจะสามารถกระทำประการหนึ่งประการใดได้ 


       และอีกสิ่งหนึ่งที่ควรรู้ก็คือ ผู้ที่ร่วมประเวณีนั้นนอกจากต้องจ่ายกัฟฟาเราะห์แล้ว ยังจำเป็นต้องชดใช้การถือศิลอดในวันที่เขาทำให้เสียด้วยการร่วมประเวณีอีกด้วย และจำนวนกัฟฟาเราะห์จะเพิ่มขึ้นเมื่อเพิ่มวันที่เขาทำให้เสียการถือศิลอดด้วยการร่วมประเวณี ดังนั้นถ้าหากเขาร่วมประเวณีขณะถือศิลอดรอมาดอนสองวันเขาจำเป็นจะต้องจ่ายสองกัฟฟาเราะห์ พร้อมทั้งต้องชดใช้การถือศิลอดสองวัน ถ้าหากเขาร่วมประเวณีสามวัน ก็ต้องจ่ายสามกัฟฟาเราะห์ เป็นต้น

สิ่งที่มักรูฮฺระหว่างการถือศิลอด
1) การชิมอาหาร

เว้นแต่ว่า หากต้องการในการเคี้ยวเช่น ขนมปังเพื่อเด็ก ที่ไม่มีใครสามารถจะทำให้เด็กคนนั้นหรือ ดังนั้นจึงไม่มักรูฮ
2) การดูดเลือดเสีย มักรูฮฺ ทั้งผู้ที่ดูดเลือดให้คนอื่น และผู้ที่ถูกดูดเลือด
3) การเคี้ยว เช่นเคี้ยวหมากฟรั่ง มักรูฮฺก็คือสิ่งนั้นจะไม่แตกออก แต่ถ้าหากมั่นใจว่ามีบางส่วนจากวัตถุนั้นโดยตั้งใจว่ามันเข้าไปยังภายในจึงทำให้เสียบวช ดังนี้แหละจึงหะรอมการเคี้ยว
4) การเจาะเลือด การบริจาคเลือดและการกรอกเลือด
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ การถือศีลอด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น